การทำ MRI มีข้อดีที่สามารถเห็นภาพของเนื้อเยื่อได้ชัดเจนกว่าการทำ CT. Scan แต่ต้องแลกกับการที่ต้องใช้เวลามากกว่าค่อนข้างมาก ทำให้แต่เดิมแล้ว MRI ไม่เป็นที่นิยมในการใช้วินิจฉัยผู้ป่วยฉุกเฉินเท่ากับ CT. Scan แต่ในช่วงหลังมานี้ MRI ถูกใช้ในเหตุฉุกเฉินมากขึ้นเนื่องจากการแสดงภาพที่ชัดเจนและละเอียดมากกว่า CT. Scan จึงทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากกว่านั่นเอง
การทำ MRI ในเหตุฉุกเฉินนั้นทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการได้ละเอียดมากขึ้นเช่น มีการกดทับของไขสันหลังจากการประสบอุบัติหรือไม่ สาเหตุที่ถูกกดทับมาจากอะไร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดเฉียบพลัน (stroke) เมื่อสมองขาดเลือดจะทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งอาการแสดงต่างๆ จะมากหรือน้อยขึ้นกับระดับความรุนแรงและตำแหน่งของสมองที่ถูกทำลาย
โดยคนในกลุ่มนี้มักจะมีอาการ
- แขนขาอ่อนแรง
- อัมพาตครึ่งซีก
- ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
- ตามัว
- ปวดศีรษะเวียนศีรษะทันทีทันใด
อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน และในรายที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว (transient ischemic attack: TIA) อาจมีอาการเตือนเหล่านี้เกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเอง หรืออาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดแบบถาวรซึ่งเป็นเหตุให้สมองตายได้ ซึ่ง MRI สามารถดูภาพของหลอดเลือดในสมองได้อย่างชัดเจน ทำให้แพทย์สามารถรักษาได้อย่างแม่นยำและทันท่วงทีมากกว่าภาพที่ได้จาก CT. Scan นั้นเอง
ในปัจจุบัน MRI ยังถูกใช้ในการตรวจโรคในภาวะฉุกเฉินอีกหลายโรค เช่น การตรวจดูกระดูกที่หัก หลอดเลือดอุดตันในสมอง หรือ ลิ่มเลือดอุดตันในปอด เป็นต้น