ฮีทสโตรก (Heatstroke) หรือ โรคลมแดด คือ หนึ่งในโรคยอดนิยมที่มักจะพบได้บ่อยในฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิเกินกว่า 40 องศาเซลเซียล ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมหรือปรับอุณหภูมิในร่างกายได้อย่างเป็นปกติ โดยสถิติประเทศไทยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยในโรคดังกล่าวสูงขึ้นทุกปีจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสาเหตุภาวะโลกร้อน และปัจจัยอื่นๆ เช่น การทำกิจกรรมหรือทำงานในพื้นที่กลางแจ้งที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน
อาการเบื้องต้น ที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- ตัวร้อนมาก อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
- ผิวหนังแห้งและร้อน ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก
- ความดันโลหิตลดลง
- หัวใจเต้นเร็วมาก ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว
- กระหายน้ำมากกว่าปกติ
- วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด
- คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย
- หากมีอาการติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจถึงขั้นชักกระตุก เกร็ง และหมดสติได้
ใครบ้างคือกลุ่มเสี่ยง ?
- เด็กที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี หรือผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถควบคุมการระบายความร้อนได้ดีเท่าวัยอื่นๆ
- ผู้ที่ทำกิจกรรม หรือทำงานในพื้นที่กลางแจ้งเป็นระยะเวลานาน เช่น นักกีฬากลางแจ้ง เกษตรกร เป็นต้น
- ผู้ที่ทำงานในห้องแอร์เป็นเวลานานและออกไปเจออากาศร้อนจัดในทันที ซึ่งร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะมีการสูญเสียน้ำมากกว่าปกติและเกลือแร่มากกว่าคนปกติในสภาพอากาศร้อนจัด
- ผู้ที่พักผ่อนน้อย หรือพักผ่อนไม่เพียงพอติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ผู้ป่วยโรคอ้วน หรือผู้มีภาวะน้ำหนักเกินกว่าปกติ
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เป็นต้น
หากพบผู้ป่วยฮีทสโตรกควรทำอย่างไร ?
- รีบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่ม ไม่โดนแสงแดด มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย
- จัดผู้ป่วยให้นอนราบ ยกเท้าทั้งสองข้างให้สูงกว่าระดับตัวเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้ไปเลี้ยงสมองมากยิ่งขึ้น
- คลายเสื้อผ้าให้หลวมเพื่อช่วยในการระบายอุณหภูมิร่างกาย
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือผ้าห่อน้ำแข็ง ประคบตามร่างกายในจุดต่างๆ ได้แก่ หน้าผาก ซอกคอ รักแร้ เช็ดตามตัว หรือใช้พัดลมในการช่วยระบายอุณหภูมิร่างกายให้ลดลงเร็วที่สุด
- หากผู้ป่วยไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่า และรีบนำส่งโรงพยาบาล
ป้องกันอาการฮีทสโตรกได้อย่างไรบ้าง?
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรืออยู่ในที่ร้อนจัดเป็นระยะเวลาติดต่อกันนานเกินไป
- เลือกใส่เสื้อผ้าที่เหมาะกับสภาพอากาศ เนื้อผ้าระบายความร้อนได้ดี
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้วต่อวัน โดยแบ่งจิบเป็นระยะเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ร่างกาย
- ไม่ควรปล่อยให้เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวานอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัด และควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
- หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ หรือมีอาการบ่งชี้ตามข้างต้น โปรดพบแพทย์โดยด่วน