นอนผิดท่า ร่างกายบาดเจ็บแบบไม่รู้ตัว
การนอน ถือเป็นการพักผ่อนที่ดีและง่ายที่สุด โดยร่างกายของมนุษย์ต้องการการพักผ่อนโดยการนอนเฉลี่ย 7 – 8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเท่ากับมนุษย์จำเป็นต้องใช้เวลากับการนอนไปถึงเกือบ 1 ใน 3 ของแต่ละวันเลยทีเดียว
ซึ่งการนอนถือเป็นวิธีการซ่อมแซมและฟื้นฟูร่างกายจากความเหนื่อยล้าได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง ดังนั้น การนอนในท่าทางที่ถูกต้องเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้เรามีสุขภาพโดยรวมที่ดี ไม่มีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ระบบกระดูก หรืออวัยวะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนวัยอันควร ในทางกลับกัน หากนอนในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะส่งผลให้การนอนกลับทำให้เกิดภาวะการบาดเจ็บของระบบต่างๆ ในร่างกายได้ รวมถึงเครื่องนอนที่ไม่เหมาะกับสรีระของผู้นอนเองก็อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้เช่นกัน
4 ท่านอนชวนปวดตัว ที่คนนอนก็ไม่รู้ตัว
- นอนขดตัวคุดคู้ ลักษณะก้มศีรษะ โก่งหลัง พับสะโพก งอเข่า เป็นท่านอนที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะส่งผลเสียแก่ระบบต่างๆ ในร่างกายได้ โดยการนอนท่านี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้มีอาการปวดเข่า กล้ามเนื้อหลังส่วนล่างมีโอกาสอักเสบและปวด กระดูกสันหลังบิดโก่งงอผิดรูป ปวดคอเนื่องจากกล้ามเนื้อคออักเสบ
- นอนคว่ำ เป็นท่านอนที่ทำให้ผู้นอนหายใจได้ไม่สะดวก กระดูกสันหลังจะแอ่นโค้งมากกว่าปกติ และขณะที่นอนจะต้องบิดคอไปทางซ้ายหรือขวาเพื่อยังสามารถหายใจได้ ดังนั้นอาจทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อคอ ทำให้ปวดคอและหลังได้
- นอนแบบกึ่งนอนกึ่งนั่ง โดยใช้หมอนรองหลังไว้ขณะนอน แล้วเอนหลังและไถลตัวลงบนบนโซฟาหรือเตียงนอน และทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เล่นโทรศัพท์ อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ หรือกิจกรรมที่ทำให้ต้องอยู่ในท่ากึ่งนอนกึ่งนั่ง ทำให้ผู้นอนต้องก้มหรืองอคอเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลเสียกับหมอนรองกระดูกสันหนังส่วนคอ จนเกิดอาการอักเสบกล้ามเนื้อคอบ่าไหลได้
- นอนทับแขนตัวเอง ท่านอนนี้ผู้นอนจะใช้ศีรษะทับต้นแขนของตัวเอง หรือให้คู่รักนอนหนุนแขน โดยบริเวณนั้นมีเส้นประสาท (Radial Nerve) อยู่ เมื่อเส้นประสาทถูกกดทับเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทตามมา ที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการข้อมือตก ทำให้กระดกข้อมือไม่ขึ้น อาการข้อมือตกจากการถูกกดทับของเส้นประสาทเรเดียน (Radial Nerve) นี้ เรียกว่า Saturday night palsy หรือ Honeymoon palsy โดยส่วนใหญ่แล้วอาการมักไม่ร้ายแรงและสามารถหายเองได้
นอนแบบไหนถึงจะลดอาการปวด แถมยังดีต่อสุขภาพ
- นอนหงาย ท่านอนปกติที่ทำให้เกิดโอกาสอักเสบหรือปวดร่างกายได้น้อยที่สุด เพราะการนอนในท่าดังกล่าวเป็นการกระจายน้ำหนักตัวไปตามส่วนต่างๆ ของแผ่นหลัง จึงทำให้ไม่มีจุดใดจุดหนึ่งที่รับภาระน้ำหนักตัวมากกว่าจุดอื่น อีกทั้งกระดูกสันหลังยังอยู่ในแนวตรง ไม่มีการคดโค้งผิดรูป และหากมีหมอนรองใต้เข่าขณะนอนหงายก็จะช่วยให้นอนสบายยิ่งขึ้น เนื่องจากการชันเข่าเวลานอนจะทำให้ข้อสะโพกมีการงอเล็กน้อย จึงลดการแอ่นของกระดูกสันหลังส่วนล่างและป้องกันอาการปวดหลังได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การนอนหงายอาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคปวดหลัง มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับหรือนอนกรนเป็นประจำ เป็นต้น ผู้ป่วยในกลุ่มดังกล่าวจึงจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- นอนตะแคง เป็นท่านอนที่ดีอีกท่าหนึ่ง นอนสบายและสามารถช่วยลดอาการปวดหลังได้ ควรนอนโดยมีหมอนข้างไว้ให้กอดและพาดขา ส่วนหมอนหนุนที่ใช้ก็ไม่ควรเตี้ยจนเกินไปเพราะจะทำให้ปวดต้นคอได้ ควรใช้หมอนหนุนที่เมื่อนอนตะแคงแล้วศีรษะอยู่ระดับเดียวกับลำตัว หรือกระดูกสันหลังส่วนคออยู่ระดับเดียวกับกระดูกสันหลังส่วนอกและส่วนเอว
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะนอนท่าไหนก็ตาม หากรู้สึกตัวระหว่างการนอน ควรเปลี่ยนท่านอนทุกครั้งเพื่อให้ร่างกายได้ขยับ กระดูกและกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งจะได้ไม่ถูกกดทับหรือรับภาระน้ำหนักตัวมากจนเกินไป
นอกจากท่านอนแล้ว ปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวกับการนอนก็สำคัญ
- เครื่องนอน ควรเลือกเครื่องนอนให้เหมาะกับสรีระของผู้นอน โดยในปัจจุบันมีเครื่องนอนมากมายหลายแบบที่ถูกพัฒนาเพื่อรองรับสรีระและนิสัยการนอนที่แตกต่างกันไปของแต่ละบุคคล ดังนั้นการเลือกเครื่องนอนที่เหมาะจะช่วยลดโอกาสการบาดเจ็บจากการนอนได้มากยิ่งขึ้น
2. สภาพแวดล้อมระหว่างการนอน การนอนที่ดี นอกจากท่านอน อุปกรณ์ที่ช่วยในการนอนแล้ว สภาพแวดล้อมก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการหลับสนิทจะทำการให้การพักผ่อนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การนอนควรเป็นสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก แสงสว่างน้อยหรือมืดสนิท ไม่มีเสียงดังรบกวนขณะกำลังนอนหลับ ซึ่งอาจจะใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ผ้าปิดตา ที่อุดหู เพื่อช่วยให้สามารถนอนหลับสนิทได้ดียิ่งขึ้น