เตรียมพร้อมรับมือ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ XBB 1.16 (Arcturus)

เตรียมพร้อมรับมือ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ XBB 1.16 (Arcturus)

แม้ในช่วงที่ผ่านมา มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) โดยภาครัฐได้ผ่อนคลายลงจนเรียกได้ว่ากลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ และได้ถูกประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นและรักษาตัวตามอาการโดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการเฝ้าระวังในสถานกักตัวของรัฐแล้วนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วยังคงมีผู้ที่ตรวจพบว่ายังคงป่วยโดยเชื้อไวรัสดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จากรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสะสมแล้วกว่า 5,483 ราย และเสียชีวิต 273 ราย

อีกทั้งมีกระแสข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 (Arcturus – อาร์คทูรัส) ซึ่งกำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศอินเดีย และพบผู้ติดเชื้อแล้วในอีก 29 ประเทศทั่วโลก เช่น สิงคโปร์ เนปาล สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และไทย โดยมีการคาดการณ์ว่าสายพันธุ์ดังกล่าวจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในอนาคต และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาซึ่งมีการยืนยันผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนลูกผสม XBB.1.16 แล้วจำนวน 27 ราย ภายในประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 18 เมษายน 2566) จึงเป็นที่น่าจับตาและต้องเฝ้าระวังถึงโอกาสที่เชื้อไวรัสดังกล่าวจะกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง

อาการป่วยที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษในสายพันธุ์ XBB.1.16 (Arcturus – อาร์คทูรัส) ดังนี้

  1. มีไข้ขึ้นสูง
  2. เป็นหวัด และมีอาการไอ
  3. เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง
  4. ระคายเคืองบริเวณตา
  5. น้ำตาไหล
  6. ลืมเปลือกตาไม่ขึ้นแต่ไม่มีหนอง เพราะไม่มีเชื้อแบคทีเรีย
  7. ลิ้นไม่รับรส ไม่ได้กลิ่น

กลุ่มเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

  1. ผู้ป่วยโรคเยื่อบุดวงตาอักเสบ
  2. ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้

การป้องกันเบื้องต้น ตามแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับประชาชนโดยกรมควบคุมโรค ดังนี้

  1. สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าร่วมกิจกรรมหรือไปในสถานที่ที่มีคนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก หรือ มีกลุ่ม 607 (ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง) เช่น โรงพยาบาล สถานดูแลผู้สูงวัย เป็นต้น
  2. หากมีอาการไข้ขึ้นสูง เป็นหวัด ไอ เจ็บคอ หรืออาการเข้าข่ายควรเฝ้าระวัง ให้ตรวจ ATK เพื่อตรวจหาเชื้อในเบื้องต้น และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้กลุ่ม 608 (ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก) สถานที่ที่มีคนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก หากมีอาการมากขึ้น ควรรีบพบแพทย์
  3. เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปี โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพร้อมกันได้ ซึ่งสามารถช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ สามารถรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพร้อมกัน เริ่มเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ จะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ที่ภูมิคุ้มกันขึ้นไม่ดี สามารถรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) ซึ่งยังคงมีประโยชน์สำหรับผู้ที่รับวัคซีนแล้วไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้