มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป แต่ในปัจจุบันมะเร็งเต้านมกลับพบมากขึ้นในผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี โดยเฉลี่ยจะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในอัตรา 1 ใน 8 ซึ่งผู้ป่วยมักจะไม่แสดงอาการแรกเริ่มให้เห็น อาจคลำพบเพียงก้อนเนื้อบริเวณเต้านมหรือใต้รักแร้ซึ่งกดแล้วอาจจะเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติและชะล่าใจไม่ได้ปรึกษาแพทย์ จนลุกลามกลายเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว ส่งผลให้การรักษาล่าช้าและอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
ชนิดของมะเร็งเต้านม ที่พบบ่อยมี 2 ประเภท ดังนี้
- เนื้องอกเต้านม เช่น ชนิด Ductal carcinoma in situ ซึ่งเป็นเนื้องอกที่เกิดที่ท่อนม
- มะเร็งเต้านม ( Invasive cancer ) ซึ่งเซลล์มะเร็งมีการทะลุเยื่อบุท่อน้ำนม เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดของมะเร็งเต้านม เมื่อเกิดเป็นมะเร็งแล้วมีโอกาสที่จะแพร่กระจายไปส่วนอื่นของร่างกายผ่านระบบไหลเวียนโลหิตและต่อมน้ำเหลือง
อาการของโรค
- พบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม หรือใต้รักแร้ จากการคลำหรือกด
- ขนาดหรือรูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป แม้ปกติเต้านมทั้ง 2 ข้างอาจมีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกันบ้าง แต่การหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเต้านมว่ามีลักษณะผิดไปจากปกติหรือไม่ จะช่วยให้รู้ทันและดำเนินการรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
- ผิวหนังบริเวณเต้านมบุ๋มลงคล้ายลักยิ้ม หรือบวมหนาคล้ายเปลือกส้ม และมีสีหรือผิวหนังบริเวณลานหัวนมเปลี่ยนไปจากเดิม หากพบความผิดปกติดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์ ซึ่งอาจเป็นอาการของเซลล์มะเร็งที่ลุกลามมาถึงชั้นเนื้อใต้ผิวหนัง
- มีน้ำเหลือง หรือของเหลวสีคล้ายเลือดไหลออกจากหัวนม
- ผิวหนังรอบๆ เต้านมบวมแดงอักเสบ โดยเฉพาะเมื่อคลำพบก้อนเนื้อด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์
- อาการเจ็บผิดปกติที่เต้านม ซึ่งไม่ใช่อาการเจ็บที่เกิดขึ้นในช่วงมีประจำเดือน
- มีผื่นคันบริเวณเต้านม รักษาแล้วแต่ไม่หายขาด โดยผื่นคันอาจเกิดขึ้นที่หัวนม หรือบริเวณเต้านม โดยเริ่มต้นจากผื่นแดงแสบคันที่ผิวหนัง แม้จะรักษาโดยแพทย์ผิวหนังแล้วจะยังไม่หายขาดจนกลายเป็นแผลตกสะเก็ดแข็ง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วย เนื่องจากอาจเกิดจากเซลล์มะเร็งที่ลามถึงผิวหนังชั้นนอกบริเวณหัวนมหรือเต้านมแล้ว
ผู้ใดบ้างที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม
แท้จริงแล้วผู้หญิงทุกคนล้วนมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม แต่จะแสดงอาการหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยและความเสี่ยงรอบตัวทั้งจากอายุที่มากขึ้น กรรมพันธุ์ หรือการใช้ชีวิต โดยมีสาเหตุหลักๆ ดังนี้
- ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป จากการศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี จะมีโอกาสป่วยในอัตรา 1 ใน 8 และจะเพิ่มมากขึ้นในผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป มีโอกาสป่วยในอัตราถึง 2 ใน 3
- ครอบครัวมีประวัติผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมหรือรังไข่มาก่อน เนื่องจากอาจะเกิดจากกรรมพันธุ์ที่มีเซลล์มะเร็งแฝงอยู่
- มีประวัติเป็นโรคหรือเคยรักษาเกี่ยวกับเต้านม โดยเฉพาะหากเคยมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับเต้าหนม หรือเคยได้รับการฉายรังสีในบริเวณดังกล่าว จะเพิ่มความเสี่ยงหรือกระตุ้นเซลล์มะเร็งได้
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
- ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จากการสูบเองหรือได้รับจากคนรอบข้าง หรือผู้อื่นที่สูบนั้น มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งเต้านม รวมถึงโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจอื่นๆ ได้
- ปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคอ้วน เชื้อชาติซึ่งผู้หญิงในชาติตะวันตกมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงเอเชีย การมีบุตรและให้นมลูกเองซึ่งผู้หญิงที่คลอดบุตรและเลี้ยงบุตรด้วยนมของตนเองจะช่วยป้องกันโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมได้ ใช้ฮอร์โมนเพศหรือยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เป็นต้น
วิธีการตรวจคัดกรองเบื้องต้น
- การคลำเต้านมเช็คด้วยตนเอง ควรคลำเต้านมทุกเดือนตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ หลังหมดประจำเดือน 2-3 วัน เนื่องจากจะคัดเต้านมน้อย
- การตรวจเต้านมโดยแพทย์ แนะนำให้ตรวจปีละ 1 ครั้งในผู้ป่วยที่อายุ 40 ปีขึ้นไป
- การตรวจด้วยวิธีแมมโมแกรม (Mammogram) เป็นการตรวจที่มีความไวมากกว่าการคลำ สามารถตรวจพบก้อนมะเร็งขนาดเล็กๆได้ อาจทำร่วมกับการตรวจอัลตร้าซาวด์ (ultrasonography) ในคนไข้ที่เนื้อเต้านมค่อนข้างแน่น แนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปี โดยตรวจต่อเนื่องทุก 1-2 ปี หรือถี่กว่านั้นหากตรวจพบความผิดปกติ
- การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging: MRI) จะใช้ในกรณีที่ผลของแมมโมแกรมตรวจพบความผิดปกติ และต้องการตรวจหาเพื่อให้แน่ชัดยิ่งขึ้น