รู้จัก “ตับอ่อน” ผู้ช่วยย่อยอาหารและนักควบคุมน้ำตาลในเลือด

รู้จัก “ตับอ่อน” ผู้ช่วยย่อยอาหารและนักควบคุมน้ำตาลในเลือด

  ตับอ่อน (Pancreas) เป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณช่องท้องส่วนบนวางพาดจากแนวขวาไปซ้าย ตำแหน่งจะอยู่ค่อนไปทางด้านหลังเมื่อเทียบกับอวัยวะอื่นๆ และอยู่ใกล้กับอวัยวะสำคัญหลายส่วน โดยมีหน้าที่ในการย่อยอาหารและควบคุมระดับน้ำตาล ดังนี้

  1. ผลิตเอนไซม์ (Enzyme) เช่น อไมเลส (Amylase) และไลเปส (Lipase) เป็นต้น เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร ทั้งคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน
  2. ผลิตฮอร์โมน (Hormones) โดยเฉพาะฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เช่น อินซูลิน (Insulin) และกลูคากอน (Glucagon) เป็นต้น

โรคที่เกี่ยวกับตับอ่อน

  1. ตับอ่อนอักเสบ ซึ่งแบ่งได้ 2 ชนิด ดังนี้

– ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pancreatitis) เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยโอกาสเกิดโรคจะสัมพันธ์กับปริมาณและระยะเวลาในการดื่ม อีกทั้งการสูบบุหรี่เองก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับอ่อนอีกเสบมากยิ่งขึ้น และอีกสาเหตุเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากก้อนนิ่วในถุงน้ำดีอุดท่อของตับอ่อน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่ท้องเหนือสะดืออย่างรุนแรง และในบางรายอาจปวดร้าวไปข้างหลัง ซึ่งในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้

– ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เป็นอาการต่อเนื่องจากโรคตับอ่อนอักเสบที่เกิดมาเป็นระยะเวลานานจนเกิดเป็นพังผืด อาจมีอาการปวดท้องร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ท้องอืด ท้องเสียเรื้อรัง น้ำหนักลด หรือเป็นโรคกระดูกพรุนเนื่องจากขาดวิตามินดีเป็นเวลานาน

  1. มะเร็งตับอ่อน เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่จัด เป็นผู้ป่วยโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเคยเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนมาก่อน อีกทั้งในเพศชายยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะพบมะเร็งชนิดดังกล่าวมากกว่าเพศหญิง โดยระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นจะมีโอกาสที่ก้อนเนื้อดังกล่าวไปกดทับท่อน้ำดี ทำให้มีอาการตัวเหลือง หรือปวดหลัง ซึ่งยากต่อการวินิจฉัยเนื่องจากอาการดังกล่าวสามารถพบได้ในโรคทางเดินอาหารอื่นๆ ได้เช่นกัน แต่หากมะเร็งมีความรุนแรงขึ้น จะมีอาการแน่นท้องจากมีน้ำในท้อง เบื่ออาหาร ซูบผอมน้ำหนักลด และมีอาการจากโรคที่แพร่ไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ปวดกระดูกจากการมีโรคแพร่ไปที่กระดูก เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับตับอ่อน

การวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับตับอ่อน สามารถทำได้หลายวิธีเพื่อหาต้นตอการเกิดโรคที่แตกต่างกันออกไป โดยหลักๆ แล้วจะสามารถทำได้ทั้งสิ้น 4 วิธี ดังนี้

  1. การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาค่าเอนไซม์ตับอ่อน ซึ่งจะตรวจหาค่าเอนไซม์ที่ถูกผลิตโดยตับอ่อน เช่น อไมเลส ไลเปส ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
  2. การเจาะเลือดเพื่อหาค่ามะเร็ง สำหรับมะเร็งตับอ่อน คือ ค่า CA19-9 ซึ่งอาจพบว่าสูงขึ้นได้ในผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน อย่างไรก็ดีไม่แนะนำให้ใช้ค่านี้ในการวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อน เนื่องจากมีความไวและความจำเพาะต่ำ กล่าวคือ หากค่านี้ปกติ ไม่ได้แสดงว่าผู้ป่วยไม่มีมะเร็งตับอ่อน และในขณะเดียวกันผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน อาจมีค่าเลือดนี้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้
  3. การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ทั้งสองวิธีเป็นการตรวจที่ทำสำคัญในการวางแผนรักษา สามารถบอกได้ว่าก้อนที่พบน่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ หากเป็นมะเร็งมีโอกาสที่จะแพร่กระจายไปยังตำแหน่งอื่น หรือตัวก้อนติดเส้นเลือดที่สำคัญหรือไม่
  4. การส่องกล้องและอัลตราซาวนด์ผ่อนทางกล้อง (Endoscopic Ultrasound) เป็นอีกหนึ่งวิธีการตรวจที่สำคัญในการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับตับอ่อน เนื่องจากแพทย์สามารถทำการเจาะชิ้นเนื้อมาตรวจเพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยได้