“ไต” นักขจัดของเสียและรักษาสมดุลให้ร่างกาย
ไต (Kidney) คือ อวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ววางอยู่ทางด้านหลังของช่องท้องขนาบกับกระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 1 อัน มีหน้าที่ในการรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
และขับของเสียออกมาในรูปแบบปัสสาวะ ในปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไตมากขึ้น โดยเฉพาะโรคไตเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ดังนั้นการดูแลสุขภาพไตให้ดี ห่างไกลจากความเสี่ยงเกิดโรคไตจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย
หน้าที่ของไต
- กำจัดของเสีย
- ดูดซึมและเก็บสารเคมี เกลือแร่ และแร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
- รักษาสมดุลของเกลือแร่ กรด-ด่าง ของร่างกาย
- รักษาสมดุลน้ำของร่างกาย ขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย และดูดซึมกลับในภาวะขาดน้ำ
- ควบคุมความดันโลหิต
- ผลิตและควบคุมการทำงานของฮอร์โมน ได้แก่ ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการสร้างเม็ดเลือดแดง (Erythropoietin) ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการควบคุมความดันโลหิต (Renin-Angiotensin-Aldosterone System) ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการรักษาสมดุลแคลเซียม (Vitamin D และ Parathyroid Hormone)
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไต
- โรคเบาหวาน โดย 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นมักจะพบอาการของโรคไตร่วมด้วย ซึ่งอาจพบโปรตีนในปัสสาวะเนื่องจากค่าการทำงานของไตลดลง
- ความดันโลหิตสูง ผู้ที่ป่วยส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัว ซึ่งไตมีเส้นเลือดแดง (Renal artery) ส่วนประกอบหลักของอวัยวะ โดยทำหน้าที่ลำเลียงเลือดเข้าสู่ไตทั้งสองข้าง หากเป็นความดันโลหิตสูงย่อมส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตด้วย
- ผู้ป่วยโรคอ้วน หรือมีภาวะน้ำหนักเกินกว่ากำหนด
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง เป็นต้น
- ผู้สูงอายุที่มีอัตราการทำงานของไตลดลง
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคไตและสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น ถุงน้ำในไต เป็นต้น
- ผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่มักมีโรคไตร่วมด้วย เช่น โรค SLE โรคหลอดเลือกอักเสบ หรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่างๆ
- ผู้ป่วยที่มีประวัติการใช้ยาหรือสารพิษที่เป็นอันตรายต่อไต
ประเภทของโรคไต แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
- โรคไตวายเฉียบพลัน คือ ไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่วัน ซึ่งเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น ภาวะช็อกจากการเสียน้ำหรือเลือดเป็นจำนวนมาก การติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง หรือได้รับสารพิษหรือผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงตั้งแต่เริ่มแรกทั้งๆ ที่ไตยังไม่เสื่อม เช่น ผู้ป่วยจะมีอาการบวม ปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ มีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ และโปรตีนไข่ขาวปนออกมาในปัสสาวะด้วย หากตรวจวัดความดันโลหิตจะพบว่ามีความดันโลหิตสูงผิดปกติ อาการผิดปกติเหล่านี้จะแสดงออกมาให้เห็นในระยะแรกๆ ตั้งแต่เริ่มเป็น ภาวะไตวายเฉียบพลันมีอันตรายถึงชีวิตได้ แต่หากมาพบแพทย์และรักษาอย่างทันท่วงที เนื้อไตและการทำงานของไตก็อาจสามารถกลับฟื้นคืนเป็นปกติได้เช่นกัน
- โรคไตวายเรื้อรัง คือ เนื้อไตจะถูกทำลายไปทีละน้อยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ เช่น โรคไตที่เกิดจากเบาหวาน โรคไตที่เกิดจากความดันโลหิตสูง โรคไตที่เกิดจากเกาท์ ฯลฯ ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการผิดปกติออกมาให้เห็นเลยโดยผู้ป่วยจะมีความเป็นอยู่ ดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติทุกอย่างเป็นเวลาหลายๆ ปี ระหว่างนี้ถ้าผู้ป่วยมาตรวจร่างกาย แพทย์ก็อาจจะไม่พบความผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นถ้าตรวจปัสสาวะจะพบเม็ดเลือดแดงและโปรตีนไข่ขาวปนออกมาในปัสสาวะด้วย จนในที่สุดการทำงานของไตเหลือเพียงร้อยละ 25 หรือหนึ่งในสี่ของปกติ จะเริ่มมีอาการโรคไตแสดงออกมาให้เห็นบ้าง และถ้าการทำงานของไตเสื่อมลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 10 ของปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงออกมาชัดเจนทุกราย
อาการของโรคไต
- ปัสสาวะมีลักษณะผิดปกติ เช่น สีผิดปกติ มีเลือดปน หรือเป็นฟองจากการมีโปรตีนรั่ว หรือมีนิ่วปนออกมา
- ปัสสาวะน้อยหรือบ่อยผิดปกติ เกิดจากความสามารถในการขับน้ำผิดปกติ
- มีอาการตัวบวม ขาบวม หน้าบวม
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ผิวหนังซีด คัน มีจ้ำเลือดขึ้นง่าย
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้
- รู้สึกมีรสขมในปากแม้ไม่ได้ทานอาหารรสขม ไม่สามารถรับรสอาหารได้ตามปกติ
- ผู้ป่วยบางรายน้ำหนักลด แต่บางรายอาจจะตัวบวมและน้ำหนักขึ้นได้
- ความดันโลหิตสูง
- คลำพบก้อนเนื้อบริเวณไต
การตรวจคัดกรองโรคไต โดยการตรวจหาสาเหตุเพื่อประเมินความรุนแรงสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
- ตรวจเลือด เพื่อตรวจระดับของเสียในเลือด ตรวจสมดุลเลือด กรด ด่าง อัตราการกรองของไต ฯลฯ
- ตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ วัดปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ
- ตรวจจากภาพถ่าย ได้แก่ เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์ (Ultrasound), CT Scan, MRI Scan
- ตรวจชิ้นเนื้อ (Kidney Biopsy)
- การตรวจพิเศษต่าง ๆ จำเพาะโรค (Special Tests)
การป้องกันโรคไต
- เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของเกลือ ในผู้ป่วยไตเรื้อรังควรปรับสัดส่วนโปรตีนให้เหมาะสมกับระยะของโรค
- หลักเลี่ยงอาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหารหรือแปรรูป ที่มีส่วนผสมเกลือเป็นหลัก เช่น ผักดองเค็ม ไส้กรอก เบคอน แฮม รวมถึงอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่มีผงปรุงรสเป็นส่วนประกอบ
- รับประทานอาหารที่มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัว หลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ ไข่แดง กะทิ และน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง
- ดื่มน้ำอย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน
- ควบคุมน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะโรคอ้วน
- ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
- งดสูบบุหรี่ และเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ