โรคมะเร็งปอด

โรคมะเร็งปอด

โรคมะเร็งปอด (Lung Cancer) เป็นอีกหนึ่งโรคที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศไทยโรคมะเร็งปอดนับเป็น 1 ใน 5 ของโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด โดยสามารถพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง และยังมีแนวโน้มพบผู้ที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี อีกทั้งส่วนใหญ่มักถูกวินิจฉัยว่าป่วยและเมื่ออยู่ในระยะที่ 3 และ ระยะที่ 4 ไปแล้ว เนื่องจากกว่า 70% ของผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้นซึ่งทำให้ยากต่อการวินิฉัย

สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งปอด

  1. การสูบบุหรี่ ทั้งจากการสูบเองหรือได้รับควันจากผู้ใกล้ชิดที่สูบบุหรี่ หรือที่เรียกว่า “บุหรี่มือสอง” ซึ่งการสูบบุหรี่ถือเป็นปัจจัยหลักถึง 80% – 90% ของผู้ป่วยที่ตรวจพบ เพราะในบุหรี่เต็มไปด้วยสารก่อมะเร็ง เมื่อสูดควันเข้าไปสารเหล่านี้จะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อในปอดโดยตรงทำให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ปอดและเกิดเป็นมะเร็งในที่สุด
  2. ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยที่เกิดจากการสูดดมฝุ่น PM 2.5 มากยิ่งขึ้นจากการใช้ชีวิตในพื้นที่ที่มีมลภาวะในอาการสูง ซึ่งเมื่อสูดดมเข้าไปโดยตรงจะทำให้เกิดอาการอักเสบต่างๆ ในทางเดินหายใจ และนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปอดได้
  3. สารพิษและมลภาวะต่างๆ เช่น แร่ใยหินจากอุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง หรืออุตสาหกรรมเหมืองหิน ก๊าซเรดอนซึ่งเป็นสารกัมมันตภาพรังสีที่เกิดจากการสลายตัวของเรเดียมหรือยูเรเนียม มักพบได้ในอาคารหรือสิ่งก่อสร้างซึ่งมักมีดิน หิน หรือทรายที่มีแร่เรเดียมเจือปนมา รวมถึงสารเคมีอื่นๆ เช่น สารหนูที่มักใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
  4. อายุ เมื่ออายุมากขึ้นเซลล์ต่างๆ ในร่างกายยิ่งเสื่อมสภาพลง โดยมักจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี ขึ้นไป
  5. พันธุกรรม โดยปกติแล้วหากพบคนในครอบครัวเคยมีประวัติป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด ก็มักจะมีความเสี่ยงในการป่วยด้วยโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

อาการของโรคมะเร็งปอด

  1. มีอาการไอเรื้อรังประมาณ 2 สัปดาห์
  2. ขณะที่ไอ หรืออาเจียนเสมหะ มักมีเลือดปน
  3. เจ็บบริเวณหน้าอกตลอดเวลา
  4. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  5. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  6. เสียงแหบ หรือเสียงเปลี่ยนไปจากเดิม
  7. หายใจสั้นและมีเสียงหวีดผสมขณะหายใจ
  8. บางรายอาจมีไข้ต่ำ หรือมีภาวะปอดติดเชื้อง่ายขึ้น

ชนิดของมะเร็งปอด

มะเร็งปอดแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ขึ้นกับชนิดของเซลล์ โดยสามารถวินิจฉัยได้โดยการนำเอาตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งจะมีวิธีการรักษาแตกต่างกันออกไป

  1. มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) มีโอกาสพบได้ประมาณ 10 – 15%
    โดยเซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การรักษาจะไม่ใช้วิธีการผ่าตัด ส่วนมากรักษาด้วยการใช้ยาหรือฉายรังสี โดยมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก มีทั้งหมด 2 ระยะ ดังนี้

ระยะจำกัด สามารถพบเซลล์มะเร็งที่ปอดและต่อมน้ำเหลืองในปอดข้างเดียวกัน

ระยะลุกลาม เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วปอดและลุกลามบริเวณช่องอกในข้างระยะจำกัด แพร่โดยของเหลวรอบๆ ปอด และกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น สมอง เป็นต้น

  1. มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) พบได้บ่อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (โอกาสพบได้ประมาณ 85-90%) แต่แพร่กระจายได้ช้ากว่าและสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยระยะของโรคแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 มีการก่อตัวของเซลล์มะเร็งที่ปอดส่วนบนหรือบริเวณหลอดลม ในระยะนี้เซลล์มะเร็งจะยังไม่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของปอดหรือลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ผู้ป่วยจะยังไม่แสดงอาการใดๆ ที่บ่งชี้ถึงโรค

ระยะที่ 2 เริ่มมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองภายในปอด โดยเซลล์อาจจับตัวเป็นก้อนที่กลีบปอด 1 ก้อนหรือมากกว่า หากตรวจพบก้อนมะเร็งในระยะ มีโอกาสที่รักษาให้หายขาดได้โดยการผ่าตัดนำก้อนเนื้อออก

ระยะที่ 3 มะเร็งขยายตัวและขนาดใหญ่กว่าระยะที่ 2 โดยระยะนี้มะเร็งจะลุกลามไปยังกลีบปอดอื่น มะเร็งอย่างน้อย 1 ก้อนก่อตัวที่บริเวณกลีบปอดข้างเดียวกัน ต่อมน้ำเหลือง และเนื้อเยื่อมส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ที่อยู่ระหว่างปอดทั้งสองข้าง

ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ปอดอีกข้าง ของเหลวที่ไหลเวียนหล่อเลี้ยงหัวใจ หรือต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณคอ ตับ กระดูก ต่อหมวกไต และสมอง

การวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด

  1. การตัดชิ้นเนื้อเพื่อวิเคราะห์ โดยมีวิธีการดังนี้

– การใช้เข็มขนาดเล็กตัดชิ้นเนื้อที่ช่องอกไปยังปอด และดูดตัวอย่างของเหลวเนื้อเยื่อที่สงสัยเพื่อนำมาวิเคราะห์ผล โดยทั่วไปมักทำพร้อมกับการเอกซเรย์หรือการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อหาตำแหน่งที่ต้องการตรวจ

– การส่องกล้องตรวจภายในหลอดลม (Bronchoscopy) แพทย์จะทำการสอดท่อขนาดเล็กที่มีไฟผ่านทางจมูกหรือปากเข้าไปสู่ปอด โดยท่อนี้สามารถดูดของเหลวหรือตัดชิ้นเนื้อเยื่อที่สงสัยออกมาตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียด

– การตรวจช่องกลางทรวงอกโดยการส่องกล้อง (Mediastinoscopy) แพทย์จะทำการผ่าตัดบริเวณส่วนบนของกระดูกอก จากนั้นสอดกล้องเข้าไปภายในช่องทรวงอก และนำตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือต่อมน้ำเหลืองออกมาตรวจ

– การตรวจช่องทรวงอกโดยการส่องกล้อง (Thorocoscopy) แพทย์จะใช้กล้องใส่เข้าทางผนังทรวงอกเพื่อตัดก้อนเนื้อจากปอดไปตรวจ

  1. การตรวจวินิจฉัยรังสี

– การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography scan หรือ CT Scan) และการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์หาตำแหน่งและขนาดของก้อนเนื้อที่ผิดปกติในบริเวณปอดได้

– การตรวจด้วยเครื่อง Positron Emission Tomography (PET) Scan เป็นการฉีดโมเลกุลของสารกัมมันตภาพรังสีที่รวมกับน้ำตาลเข้าทางเส้นเลือด เซลล์มะเร็งปอดจะดูดซึมเอาน้ำตาลชนิดนี้ไว้อย่างรวดเร็วและมากกว่าเซลล์ปกติ ทำให้เกิดความแตกต่างของการเรืองแสงเฉพาะเซลล์มะเร็ง

  1. การตรวจยีนกลายพันธุ์ของมะเร็งจากชิ้นเนื้อ/เลือด หากมียีนกลายพันธุ์ที่สามารถรักษาด้วยการใช้ยารักษาแบบเฉพาะเจาะจงยีนจะทำให้กำจัดเซลล์มะเร็งได้ตรงจุด