โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric Cancer) เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 3 จากผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมดทั่วโลก ในประเทศไทยพบได้ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารสูงเป็นอันดับ 6 ในเพศชาย และอันดับ 9 ในเพศหญิง แม้จะไม่ได้พบบ่อยนักเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นแต่หากตรวจแล้วพบว่าป่วยเป็นโรคดังกล่าวก็มักจะอยู่ในระยะสุดท้ายของโรคซึ่งยากต่อการรักษาให้หายขาดแล้ว
สาเหตุของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร ทำให้ระบบการทำงานของกระเพาะเสียหาย ซึ่งมีโอกาสที่เซลล์มะเร็งจะลุกลามหรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ เช่น ลำไส้ ตับ ตับอ่อน ต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
- เคยมีประวัติป่วยด้วยโรคแผลในกระเพาะอาหารจากการได้รับเชื้อ Helicobacter pylori
(H. pylori) - เคยเป็นโรคกรดไหลย้อน
- เคยผ่าตัดด้วยโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือผู้ป่วยโรคอ้วน
- มีบุคคลในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารหมักดอง ของทอด ของมัน อาหารรสเค็มเป็นประจำ ไม่ทานอาหารประเภทผักและผลไม้ เป็นต้น
- สูบบุหรี่เป็นประจำ
- ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งอัณฑะ มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น
อาการของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
อาการของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมักจะไม่แสดงอาการในระยะแรก แต่สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ดังนี้
1.ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรืออาหารไม่ย่อยเป็นประจำ
2.คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
3.แสบร้อนบริเวณหน้าอก
หากปล่อยไว้อาการของโรคอาจรุนแรงขึ้น โดยสังเกตได้ดังนี้
- อุจจาระมีเลือดปน
- อาเจียนติดต่อกันเป็นเวลานาน
- น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดท้อง และอ่อนเพลีย โดยเฉพาะหลังจากรับประทานอาหาร
ระยะของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
ระยะที่ 1 มักไม่แสดงอาการของโรค ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด มีอาการปวดท้องคล้ายโรคกระเพาะซึ่งมักจะเป็นๆ หายๆ โดยเซลล์มะเร็งจะกินลึกเพียงชั้นผิวหนังแต่ยังไม่ถึงชั้นกล้ามเนื้อกระเพาะ หากตรวจพบในระยะนี้จะสามารถทำการตัดชิ้นเนื้อหรือเนื้องอกซึ่งมีโอกาสหายขาดได้
ระยะที่ 2 – 3 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อกระเพาะ หรือด้านนอกของกระเพาะอาหารและมีโอการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองมากขึ้น หากตรวจพบในระยะนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดโดยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว แพทย์มักใช้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ตับ ระยะนี้ไม่สามารถผ่าตัดและให้ยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาให้หายขาดได้ สามารถควบคุมโรคและลดอาการของโรคเท่านั้น
การวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
ในปัจจุบันการวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเบื้องต้นจะมีการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้นแล้ว จะมีการตรวจคัดกรองเพื่อหาเซลล์มะเร็งได้ดังนี้
- การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (Gastroscopy) โดยส่องกล้องกระเพาะอาหารเพื่อทำการตรวจประเมินรอยของโรคภายในกระเพาะอาหาร และตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่สงสัยไปตรวจหาเซลล์มะเร็งต่อไปได้
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือ ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ทำให้เห็นอวัยวะภายในแบบสามมิติ โดยถ่ายภาพตั้งแต่หน้าอกส่วนล่างถึงบริเวณกระดูกเชิงกราน ซึ่งใช้ตรวจว่ามะเร็งกระเพาะอาหารแพร่กระจายไปส่วนไหนบ้าง
- การเอกซเรย์กลืนแป้ง โดยจะให้ผู้ป่วยกลืนน้ำที่ผสม Barium ซึ่งเป็นสารทึบรังสี โดยสารดังกล่าวจะไปเคลือบที่ผิวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร และถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อตรวจดูเนื้อเยื้อผนังกระเพาะอาหาร
- การส่องกล้องตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (endoscopic ultrasonography, EUS) โดยให้ผู้ป่วยกลืนเครื่องมือลงไป สามารถเห็นชั้นต่างๆของกระเพาะอาหารได้ ทำให้ทราบความลึกของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ชัดเจน อีกทั้งยังตรวจหาการกระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้กระเพาะอาหาร ซึ่งจะเห็นขนาดของต่อมน้ำเหลืองที่โตขึ้น