โรคมะเร็งสมอง (Brain Cancer) เกิดจากเนื้อร้ายหรือเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณสมองและเติบโตอย่างรวดเร็ว อาจเกิดจากเนื้อเยื่อของสมองเองหรือการลุกลามของเซลล์มะเร็งจากอวัยวะอื่น ซึ่งโดยปกติแล้วโรคมะเร็งสมองพบได้ค่อนข้างยากเมื่อเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่น โดยมีโอกาสพบผู้ป่วยเพียง 1%
ของประชากรโลกที่ตรวจพบภาวะโรคมะเร็งสมอง ปัจจุบันโรคมะเร็งสมองแบ่งได้ 2 ชนิดดังนี้
- มะเร็งสมองแบบปฐมภูมิ (Primary Brain Cancer) คือ ภาวะที่มีเนื้องอกหรือเซลล์ที่เจริญเติบโตผิดปกติ โดยต้นกำเนิดมาจากในเนื้อสมองเอง โดยเนื้องอกชนิดนี้มักไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ
อยู่แต่ภายในสมองหรือไขสันหลัง พบได้ค่อนข้างน้อยมาก แต่มีความรุนแรงมาก - มะเร็งสมองทุติยภูมิ (Secondary Brain Cancer) หรือมะเร็งแพร่กระจาย (Metastasized Brain Cancer) เกิดจากการที่มะเร็งในส่วนอื่นของร่างกายแพร่กระจายไปยังสมอง ซึ่งพบได้บ่อยกว่ามะเร็งสมองแบบปฐมภูมิ เช่น มะเร็งเต้านมกระจายมาที่สมอง หรือมะเร็งปอดกระจายมาที่สมอง ความรุนแรงจะขึ้นกับชนิดของมะเร็งต้นกำเนิด
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งสมอง
โรคมะเร็งสมองเป็นเนื้องอกอันตรายที่มีการเจริญเติบโตของเซลล์ในลักษณะที่ผิดปกติ หรือเกิดจากการแพร่กระจายมาจากมะเร็งที่เกิดขึ้นในอวัยวะอื่น เนื้องอกที่มีเซลล์มะเร็งจะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังสามารถแพร่กระจายและทำลายเนื้อเยื่อดีในบริเวณข้างเคียง จึงทำให้แม้จะเคยผ่านการรักษาแล้วก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งซ้ำในอวัยวะเดิมหรือจุดอื่นๆ อีกได้
- ผู้สูงอายุ
- สูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
- ครอบครัวเคยมีประวัติผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งสมอง
- มีการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)
- เกิดจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งจากอวัยวะอื่นๆ ที่สามารถแพร่กระจายมายังสมองได้ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา เป็นต้น
- ได้รับหรือสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสีหรือสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น ยากำจัดศัตรูพืช เป็นต้น
- เกี่ยวข้องหรือปฏิบัติงานกับสารโลหะหนักจำพวกสารตะกั่ว พลาสติก ยาง น้ำมัน เป็นระยะเวลานาน
อาการของโรคมะเร็งสมอง
- ปวดศีรษะ โดยมักจะมีอาการรุนแรงในช่วงเช้า
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เป็นลมหมดสติ
- อ่อนแรงและชาบริเวณแขนขา
- กล้ามเนื้อกระตุก
- มีปัญหาซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทรงตัว การพูด การมองเห็น รวมถึงอาจส่งผลถึงการจดจำ ภาวะทางอารมณ์ สติปัญญา รวมถึงสูญเสียความทรงจำได้
หรือหากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรคโดยด่วน
- อาเจียนบ่อยและไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
- มองเห็นภาพซ้อน ภาพที่เห็นไม่ชัดเจน โดยเฉพาะตาข้างใดข้างหนึ่ง
- ง่วงซึม หรือง่วงนอนอย่างผิดปกติ
- มีอาการปวดศีรษะอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ภาวะแทรกซ้อนของโรคมะเร็งสมอง
- เนื้องอกมีเลือดออกเฉียบพลัน
- เกิดการอุดตันของน้ำในไขสันหลัง ทำให้เกิดภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
- ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้นกะทันหันจากการเคลื่อนของสมอง
การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งสมอง
โรคมะเร็งสมองสามารถวินิจฉัยได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งมีแนวทางการวินิจฉัยดังนี้
- การตรวจร่างกายทางระบบประสาท (Neurological Examination) เพื่อหาผลกระทบของเนื้อร้ายที่มีต่อสมอง
- การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) โดยการเก็บตัวอย่างของเหลวบริเวณรอบ ๆ สมองและไขสันหลัง เพื่อตรวจเซลล์มะเร็ง
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือ
การตรวจความเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีหรือ PET Scan เพื่อหาตำแหน่งของเนื้อร้าย - การตัดชิ้นเนื้อตรวจ (Biopsy) สามารถทำได้ด้วยกัน 2 วิธีคือ การผ่าตัดเปิดกระโหลกเพื่อกำจัดเนื้อร้ายในสมอง และการผ่าตัดด้วยระบบนำวิถี (Stereotaxic) ทำได้โดยการหาตำแหน่งที่ชัดเจน จากนั้นทำการเจาะรูเล็กที่กระโหลกแล้วใช้เข็มสอดเข้าไปเก็บตัวอย่างเนื้องอก แล้วส่งให้นักพยาธิวิทยาตรวจสอบหาเซลล์มะเร็งต่อไป