โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s Palsy) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตชั่วคราว สาเหตุเกิดจากเส้นประสาทสมอง (Cranial Nerve) คู่ที่ 7 เกิดการอักเสบ ซึ่งอยู่ตรงใบหน้าแต่ละด้าน ทำหน้าที่รองรับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น ยิ้ม หลับตา หน้าบึ้ง รวมถึงรับรสจากลิ้นและส่งไปยังสมอง เกิดการอักเสบส่งผลต่อการรับรส การผลิตน้ำตา และต่อมน้ำลาย

โดยสาเหตุของโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่อาจเกิดจากอุบัติเหตุ เนื้องอก หรือจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อเริม (Herpes Simplex Virus) งูสวัด (Herpes Zoster) ที่แฝงอยู่ในปมประสาท หากร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลงก็อาจทำให้เกิดโรคนี้ขึ้นได้

ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

  1. หญิงตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า โดยจะเกิดขึ้นในช่วงระยะ 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด และหลังคลอดบุตร
  2. มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
  3. กรรมพันธุ์ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
  4. เคยเกิดอุบัติเหตุ หรือได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง
  5. พฤติกรรมเสี่ยง เช่น มีภาวะเครียดสูง ทำงานหนัก หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
  6. เคยติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดือนหายใจมาก่อน เช่น โรคหวัด หรือไข้หวัดใหญ่

อาการของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

อาการของโรคนี้มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และมักเกิดรุนแรงภายใน 24 – 48 ชั่วโมง โดยอาการจะเกิดน้อยหรือมากแตกต่างกันในแต่ละราย ส่วนใหญ่มักมีอาการมากในช่วง 1 – 2 ชั่วโมง จนถึง 1 – 3 วันแรก แต่บางรายอาจมีอาการต่อเนื่องกันได้ถึง 14 วัน โดยมีอาการที่สามารถสังเกตได้ดังนี้

  1. ปวดหลังหู ก่อนที่จะเริ่มมีอาการปากเบี้ยวและปิดตาได้ไม่สนิท หรือปิดไม่ได้
  2. ใบหน้าครึ่งซีกอ่อนแรง รู้สึกหนักและตึงใบหน้าซีกดังกล่าว
  3. มีน้ำลายไหล หรือเมื่อดื่มน้ำจะมีน้ำไหลมาทางมุมปากข้างที่อ่อนแรง
  4. ตาปิดได้ไม่สนิท เคืองตา มีน้ำตาไหล ยักคิ้วไม่ได้
  5. มีเสียงก้องในหูข้างที่มีอาการอ่อนแรง
  6. ลิ้นส่วนเดียวกับใบหน้าซีกที่มีอาการอ่อนแรง มีความผิดปกติในการรับรส

การทดสอบเบื้องต้นว่าเข้าข่ายกำลังป่วยด้วยโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกหรือไม่

  1. ยักคิ้วขึ้น 2 ข้าง โดยที่คิ้วต้องสูงเท่ากันหรือห่างต่างกันเพียงเล็กน้อย
  2. ปิดตาทั้ง 2 ข้าง โดยตาทั้งสองข้างต้องปิดสนิท ไม่เห็นตาขาว
  3. ยิ้มกว้าง โดยที่มุมปากทั้งสองข้างเท่ากัน

แนวทางการวินิจฉัยโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

โดยปกติแพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อดูการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น หลับตา เลิกคิ้ว หรือฉีกยิ้ม รวมถึงสอบถามอาการป่วยอื่นๆ เพื่อประเมินสาเหตุจากปัญหาสุขภาพหรือโรคอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ รวมถึงอาจจะมีการตรวจเฉพาะอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น

  1. การตรวจเลือด
  2. การตรวจกราฟไฟฟ้าของเส้นประสาท
  3. การเจาะน้ำไขสันหลัง โดยเก็บตัวอย่างของเหลวในไขสันหลังเพื่อตรวจหาความผิดปกติ
  4. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)