โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) คืออาการอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อซึ่งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างกระดูก มีลักษณะเฉพาะคือมีอาการอักเสบรุนแรงของข้อโดยเฉพาะข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า ซึ่งหากปล่อยไว้อาจส่งผลให้ข้อถูกทำลายและอาจทำให้พิการได้ในที่สุด โดยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยพบมากในช่วงอายุ 30 – 50 ปี และมีโอกาสพบการอักเสบดังกล่าวในเพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 20 – 30 ปี มากกว่าเพศชายในวัยเดียวกัน

สาเหตุการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ในปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่พบว่ามีส่วนสัมพันธ์กับโรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune Disease) หรือการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำร้ายเนื้อเยื่อตนเองจนทำให้เกิดการอักเสบ บวม และมีน้ำเพิ่มขึ้นในช่องระหว่างข้อ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงแวดล้อมอื่นๆ เช่น การถ่ายทอดทางพันธุกรรมและกระบวนการเหนือพันธุกรรม (Genetics และ Epigenetics) การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส เป็นต้น

อาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

โดยปกติมักจะพบอาการปวดตามข้อโดยเฉพาะข้อเล็กๆ เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า ส่วนข้อใหญ่ เช่น  ข้อเข่า ข้อสะโพก มักพบได้น้อยกว่า ซึ่งอาการปวดจะแตกต่างจากการปวดจากการใช้งานข้อมากกว่าปกติ โดยสังเกตุอาการเบื้องต้นได้ดังนี้

  1. มีอาการอักเสบ ปวดบวมบริเวณข้อเล็ก ผิวหนังบริเวณดังกล่าวมีสีแดง รู้สึกร้อนบริเวณข้อเล็กที่มีอาการ กดแล้วรู้สึกเจ็บ
  2. ข้อฝืดตึงในตอนเช้าหรือหลังการหยุดใช้งานข้อเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยมักเกิดอาการฝืดตึงนานเกิน 1 ชั่วโมง
  3. ข้อพิการผิดรูป พบได้ในผู้ที่ป่วยมานาน เกิดจากการที่ข้อถูกทำลายจนผุกร่อน เอ็นและกล้ามเนื้อรอบข้อยานและอ่อนแรง ซึ่งพบได้บ่อยบริเวณนิ้วมือและข้อมือ
  4. ปวดต้นคอและบริเวณท้ายทอย เกิดจากการอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลังระดับที่ 1 และ 2  และอาการเกิดการเคลื่อนของกระดูกจนเบียดไขสันหลังและเส้นประสาทได้

อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้เพิ่มเติมจากการป่วยด้วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

  1. พบปุ่มรูมาตอยด์ตามร่างกายในจุดอื่นๆ ที่มีการกดทับ
  2. ตาแห้ง เยื่อบุตาขาวอักเสบ
  3. เกล็ดเลือดสูง มีภาวะซีดจากการอักเสบเรื้อรัง ม้ามโต เม็ดเลือดขาวต่ำ ต่อมน้ำเหลืองโต
  4. อาจมีเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ปอดเป็นพังผืด
  5. อาจมีภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ก่อนวัยอันควร
  6. หลอดเลือดอักเสบ
  7. กระดูกพรุน

แนวทางวินิฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

โดยปกติการวินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จะทำการซักประวัติ สอบถามอาการ และตรวจร่างกายเบื้องต้นร่วมกับการตรวจวินิฉัยเพิ่มเติมทางห้องแลปปฏิบัติการ เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยและแยกกับอาการของโรคอื่นๆ โดยสามารถทำได้ดังนี้

  1. การตรวจหาค่ารูมาตอยด์ (Rheumatoid Factor : RF) และ Anti-Cyclic Citrullinated Peptides (Anti-CCP) ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยและบอกพยากรณ์โรคที่รุนแรงด้วย การตรวจค่าการอักเสบ (ESR, CRP) บางกรณีอาจต้องเจาะตรวจน้ำไขข้อเพื่อแยกจากโรคอื่นๆ เช่น โรคข้ออักเสบติดเชื้อ
  2. การตรวจทางภาพรังสี โดยตรวจได้ 3 วิธี ดังนี้

– การตรวจด้วยภาพถ่ายรังสี (Plain Radiography)

– การตรวจด้วยคลื่นเสี่ยงความถี่สูง (Ultrasound)

– การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งความไวกว่าภาพถ่ายรังสี และสามารถตรวจพบการอักเสบได้ในระยะแรกที่การตรวจร่างกายยังไม่ชัดเจน