โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบหรือ อุดตันหรือมีเลือดออกในสมอง ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงเซลล์สมองจนเกิดภาวะขาดออกซิเจน ส่งผลให้เซลล์สมองตาย ในแต่ละปีโรคหลอดเลือดสมองถือเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากเป็นอับดับ 3 ทั่วโลก และสาเหตุสำคัญของอาการอัมพฤกษ์อัมพาต ข้อมูลทางสถิติพบว่าในแต่ละปีพบผู้ป่วย ด้วยโรคหลอดเลือดสมองเกิดใหม่ทั่วโลกราว 10 – 15 ล้านคน ในจำนวนนี้เสียชีวิตประมาณ 5 ล้านคน และอีกประมาณ 5 ล้านคนเป็นคนพิการอย่างถาวร

โรคหลอดเลือดสมอง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1. โรคหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งอาการของโรคหลอดเลือดสมองแตกมักจะขึ้นอยู่กับโรคความดันโลหิตสูงด้วย และปัจจัยอื่นๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งยาบางชนิด
2. โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน สามารถพบได้สูงถึง 80 – 90% ของผู้ป่วย อัมพฤกษ์-อัมพาต ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองตีบหรืออุดตัน หากมีอาการดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลานานจะส่งผลให้ผนังหลอดเลือดหนาและแข็งตัว เกิดการตีบหรืออุดตัน และทำให้สมองขาดเลือดเกิดเป็นอัมพาตได้ในที่สุด โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักมีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดส่วนปลายแขนขาตีบร่วมด้วย นอกจากนี้สาเหตุการเกิดเส้นเลือดสมองอุดตัน อาจเกิดได้จากอีกหลายสาเหตุ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด โรคเลือดบางชนิด เช่น ภาวะเลือดข้นผิดปกติ

สาเหตุการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
1. ผู้ที่ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
2. บริโภคอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ
3. สูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือได้รับควันบุหรี่ต่อเนื่อง
4. ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
5. ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
6. มีการใช้สารเสพติด
7. ยาบางชนิดซึ่งอาจมีผลกับหลอดเลือด หรือระบบไหลเวียนเลือด เป็นต้น

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
1. มีอาการชา อ่อนแรงที่แขนขา หรือใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง
2. ตามัวข้างใดข้างหนึ่ง มองเห็นไม่ชัดเจน เห็นภาพซ้อน หรือมีความผิดปกติในการมองเห็นฉับพลัน
3. พูดไม่ชัด พูดลำบาก หรือไม่เข้าใจคำพูด
4. ปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ
5. มีอาการเวียนศีรษะฉับพลัน หรือทรงตัวผิดปกติ

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง
ปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองสามารถตรวจวินิจฉัยได้หลายวิธี และสามารถบ่งชี้ถึงตำแหน่ง ของสมองและหลอดเลือดที่ผิดปกติ รวมถึงภาวะและสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ ดังนี้
1. การตรวจเลือดเพื่อดูความเข้มข้นและความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
2. การตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด
3. การตรวจหาการอักเสบของหลอดเลือด
4. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) เพื่อดูจังหวะการเต้นของหัวใจ
5. การตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดบริเวณคอ (Carotid Duplex Scan) เพื่อดูขนาดและการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงบริเวณคอที่ไปเลี้ยงสมองด้วยคลื่นความถี่สูง
6. การตรวจสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อตรวจว่าสมองมีภาวะขาดเลือดหรือภาวะเลือดออกในสมอง
7. การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อตรวจหาหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำรวมถึงเนื้อสมองและหลอดเลือดที่คอ