Food Grade Plastic แบบไหนดีต่อสุขภาพ?

Food Grade Plastic คืออะไร? เลือกใช้แบบไหนปลอดภัยต่อสุขภาพ

พลาสติกถือเป็นวัสดุที่อยู่รอบตัวเรา และกลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่ขาดไม่ได้ในปัจจุบัน โดยปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแม้แต่อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหารเองก็ถูกผลิตมาจากพลาสติกเช่นกัน ด้วยคุณสมบัติที่สามารถใช้งานได้หลากหลายตามความต้องการ เช่น บรรจุภัณฑ์ กล่องถนอมอาหาร เป็นต้น แต่ใช่ว่าพลาสติกทุกชนิดจะสามารถนำมาบรรจุอาหารได้ จึงจำเป็นต้องมีพลาสติกที่ผลิตมาเพื่อสำหรับบรรจุอาหารโดยเฉพาะและปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือที่เรียกว่า Food Grade Plastic นั่นเอง

Food Grade Plastic คือ บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีความปลอดภัยสามารถใช้บรรจุหรือสัมผัสอาหารและเครื่องดื่มได้โดยไม่ทิ้งสารตกค้างเมื่อสัมผัสกับอาหาร โดยสามารถสังเกตจากตราสัญลักษณ์ Food Safe รูปไอคอนรูปไวน์และส้อม

สัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับใส่อาหาร

  1. PET หรือ PETE (Polyethylene Terephthalate) ลักษณะเป็นสีใส สามารถมองเห็นภายในได้ มักนำมาใช้ในการผลิตขวดน้ำต่างๆ เช่น น้ำดื่ม น้ำผลไม้ น้ำอัดลม เป็นต้น พลาสติกประเภทนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) เนื่องจากอาจพบการสะสมของแบคทีเรียได้
  2. HDPE (High Density Polyethylene) เป็นพลาสติกที่มีความหนาแน่นสูง ยืดหยุ่น ทนต่อการแตกหักหรืองอได้ดี มีความทนทานต่อสารเคมีและป้องกันความชื้น ทนความเย็นในอุณหภูมิต่ำกว่า
    จุดเยือกแข็งได้ดี นิยมนำไปผลิตเป็นภาชนะบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น กล่องอาหารประเภทแช่แข็ง (Frozen Food) ขวดบรรจุสารเคมีประเภทผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ขวดนม ถังน้ำมันสำหรับยานพาหนะ โต๊ะหรือเก้าอี้แบบพับได้ ถุงพลาสติก เป็นต้น
  3. PVC (Polyvinyl Chloride) มักจะได้ยินคุ้นหูในผลิตภัณฑ์ท่อน้ำ PVC หรือสายยางใสมีคุณสมบัติยืดตัวได้มาก ใส ทนทาน แต่ทนความร้อนได้ไม่มากนัก มักนิยมนำมาผลิตฟิล์มห่ออาหาร (Film Wrap) ถุงหูหิ้ว ขวดบรรจุภัณฑ์ชนิดบีบ เป็นต้น
  4. LDPE (Low Density Polyethylene) คือพลาสติกชนิดความหนาแน่นต่ำ หรือที่เรียกทั่วไปว่า “ถุงเย็น” เป็นพลาสติกชนิดอ่อน ยืดหยุ่นได้ดี มีคุณสมบัตินิ่มและใส ทนต่อการทิ่มทะลุและฉีกขาดเนื้อเหนียวแต่แข็งแรงและทนทานน้อยกว่า HDPE ทนต่อกรดและด่างได้ดี ไม่ว่องไวต่อปฏิบัติการเคมี ป้องกันความชื้นแต่ออกซิเจนและอากาศสามารถซึมผ่านได้ มักถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ประเภทฟิล์มหดและฟิล์มยืด หรือฝาขวด เป็นต้น
  5. PP (Polypropylene) เป็นพลาสติกที่นิยมใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร เช่น ถ้วยโยเกิร์ต ถุงร้อน ขวดใส่เครื่องดื่ม ซองขนม หลอดดูด ขวดนมเด็ก เป็นต้น มีคุณสมบัติทนความร้อนได้สูงถึง 100 องศาเซลเซียส และทนไขมันได้ดี แต่ก็สามารถติดไฟได้ง่าย ทำให้ต้องเติมสารหน่วงไฟเพื่อป้องการติดไฟระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นสารในกลุ่มโบร์มิเนเตต และคลอริเนเตต ซึ่งหากสารกลุ่มนี้ไหม้ไฟแล้วจะก่อให้เกิดสารไดออกซิน (Dioxin) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งขึ้นได้
  6. PS (Polystyrene) หรือเรียกโดยทั่วไปว่า “โฟม” นิยมใช้เป็นวัสดุกันกระแทก อุปกรณ์พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง เช่น ถ้วย ช้อน ส้อม เป็นต้น โดยพลาสติกประเภทนี้ไม่เหมาะสำหรับการอุ่นร้อน หรือนำเข้าไมโครเวฟ เนื่องจากสารสไตรีนโมโนเมอร์ในโฟมจะละลายและผสมลงในอาหารได้ ซึ่งมีผลกับสมอง ระบบประสาท เม็ดเลือดแดง ตับ ไต และอาจเกิดการระคายเคืองกับผิวหนัง ตา ระบบทางเดินหายใจได้
    อีกทั้งการเผาไหม้โฟมทำให้เกิดก๊าซสไตรีนออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซพิษ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งได้
  7. PC (Polycarbonate) คุณสมบัติของโพลคาร์บอเนตเป็นพลาสติกที่มีลักษณะใส แข็ง และทนต่ออุณหภูมิทั้งร้อนและเย็นได้ดี จึงมักนำมาทำเป็นภาชนะบรรจุอาหารที่สามารถเก็บในตู้เย็นและอุ่นในไมโครเวฟได้ เช่น เหยือกน้ำ ขวดน้ำดื่มขนาดบรรจุ 5 ลิตร รวมถึงถ้วย ช้อนส้อมพลาสติกชนิดใส

BPA คืออะไร?

BPA ย่อมาจาก Bisphenol A เป็นสารเคมีประเภทโพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate Plastic) เป็นวัตถุดิบสำคัญที่นำมาใช้ในการผลิตพลาสติก มีคุณสมบัติช่วยให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกมีความแข็งแรง ใส ไม่แตกง่าย แต่ข้อเสียคือ BPA เป็นสารก่อมะเร็งและสร้างความผิดปกติให้กับเซลล์ในร่างกาย หากผลิตภัณฑ์พลาสติกพวกนี้โดนความร้อน จากการต้ม นึ่ง สเตอริไลซ์ หรือการตากแดดเป็นเวลานาน สาร BPA ในผลิตภัณฑ์พลาสติกก็จะหลุดออกมาปะปนกับอาหารที่บรรจุอยู่ในภาชนะนั้น ซึ่งหากบริโภคอาหารเหล่านั้นเข้าไป อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค

อันตรายจากสาร BPA

สาร BPA ที่ปนเปื้อนมากับผลิตภัณฑ์พลาสติกและอาหารส่งผลกระทบโดยตรงต่อร่างกายของผู้บริโภคทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยสังเกตได้ดังนี้

อันตรายต่อเด็ก

  1. ส่งผลต่อการสร้างเซลล์สมอง ระบบประสาท ความทรงจำและการเรียนรู้ของเด็ก
  2. ส่งผลต่อฮอร์โมนการเจริญเติบโต การสืบพันธุ์ ทำให้ร่างกายเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วเกินไป รวมถึงมีแนวโน้มเสี่ยงเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ รวมถึงโรคสมาธิสั้นอีกด้วย

อันตรายต่อผู้ใหญ่

  1. หากหญิงตั้งครรภ์ได้รับสาร BPA ในปริมาณมากเกินไป จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์และมีความเสี่ยงเกิดการแท้ง เกิดความผิดปกติของโครโมโซมซึ่งอาจทำให้เด็กที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคดาวน์ซินโดรม และสมาธิสั้นได้
  2. เพศหญิง มีผลต่อความสามารถในการปฏิสนธิของไข่ลดลง ผลกระทบกับการทำงานของต่อมไทรอยด์ และเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านม
  3. เพศชาย มีผลให้สมรรถภาพทางเพศลดลง DNA ในสเปิร์มถูกทำลาย ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับจำนวนและการเคลื่อนไหวของสเปิร์ม รวมถึงมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย

ไบโอพลาสติก ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของผู้บริโภค

ปัจจุบันมีการวิจัยวัสดุทดแทนพลาสติกจากปิโตรเคมี เพื่อเป็นทางเลือกลดการปิโตรเคมีจากฟอสซิล และลดปริมาณขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้ยากหรือไม่สามารถรีไซเคิลได้ เรียกว่า “ไบโอพลาสติก (Biodegradable Plastic)” ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ 100% เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งสามารถย่อยสลายได้เองโดยวิธีการทางชีวภาพ (Bio Compostable) โดยอาศัยจุลินทรีย์ตามธรรมชาติเป็นตัวย่อยสลายจนเหลือเพียงน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และสารปรับปรุงดิน (Humus) ซึ่งสามารถย่อยสลายได้มากถึง 100% โดยไม่ทิ้งสารตกค้างที่เป็นอันตรายในสิ่งแวดล้อม