ภาวะเต้านมผิดปกติไม่ได้มีแค่โรคมะเร็ง?

ภาวะเต้านมผิดปกติไม่ได้มีแค่โรคมะเร็ง?
เต้านม เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สำคัญกับฮอร์โมนเพศ โดยปกติเต้านมของผู้หญิงประกอบไปด้วย ต่อมน้ำนม 15-20 ต่อม ซึ่งภายในจะมีต่อมน้ำนมเล็กๆ อยู่อีกจำนวนมาก โดยส่วนปลายของต่อมน้ำนมเล็กจะมีถุงเล็กๆ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำนม ทั้งหมดเชื่อมกันด้วยท่อน้ำนมและไปสิ้นสุดที่หัวนม ส่วนบริเวณช่องว่างระหว่างต่อมน้ำนมและท่อน้ำนมจะมีไขมันแทรกอยู่โดยมีกล้ามเนื้อรองรับเต้านมอยู่เหนือกระดูกซี่โครงอีกชั้นหนึ่ง การพบสัญญาณความผิดปกติบริเวณเต้านม เช่น สังเกตเห็นว่าเต้านมมีรูปทรงเปลี่ยนไปจากปกติ จับหรือคลำแล้วรู้สึกเจ็บหรือคลำเจอก้อนเนื้อ อาจเป็นสัญญาณของโรคบางโรคก็เป็นได้ ดังนั้น การเริ่มต้นดูแลสุขภาพเต้านมจึงเป็นเรื่องสำคัญ

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
การตรวจเต้านมสามารถทำง่ายๆ ด้วยตนเอง โดยสามารถเริ่มทำได้อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป โดยช่วงเวลาที่เหมาะแก่การตรวจคือ 7 – 10 วัน นับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือน หรือหากเป็นวัยหมดประจำเดือนแล้ว ให้กำหนดวันตรวจเป็นวันเดียวกันของทุกเดือน

ขั้นตอนการตรวจด้วยตนเองเบื้องต้น
1. ยืนหันหน้าเข้าหากระจก แล้วดูที่เต้านมทั้ง 2 ข้าง หากสังเกตพบว่าเต้านมมีขนาด รูปร่าง สี ตำแหน่งของเต้านม หัวนมว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากการตรวจในครั้งก่อนหน้าหรือไม่
2. ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะทั้ง 2 ข้าง แล้วดูที่เต้านมอีกครั้ง หมุนตัวช้าๆ เพื่อดูบริเวณด้านข้างของเต้านม
3. ใช้มือท้าวเอวแล้วโน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย ดูความเปลี่ยนแปลงซ้ำอีกครั้งว่ารูปร่างของเต้านมต่างจากเดิมหรือไม่
4. ใช้นิ้วมือบีบที่หัวนมเบาๆ ดูว่ามีเลือด หนอง หรือมีน้ำไหลออกจากหัวนมหรือไม่
5. คลำเต้านม โดยเริ่มตั้งแต่กระดูกไหปลาร้าลงมา ใช้มือข้างใดข้างหนึ่งคลาเต้านม โดยใช้นิ้วชี้ กลางและนาง 3 นิ้ว กดลงบนผิวหนังจากเบาไปแรงจนสัมผัสกระดูกซี่โครง คลำเต้านมโดยสามารถทาได้หลายแบบ เช่น คลำเริ่มจากหัวนมไปตามแนวก้นหอยจนถึงฐานเต้านมบริเวณขอบ หรือคลำใต้เต้านม ถึงกระดูกไหปลาร้า ขยับนิ้วทั้ง 3 ในแนวเรียงแถวขึ้นลงสลับกันไป และคลำไปจนถึงบริเวณรักแร้ใต้วงแขน โดยทำซ้ำที่เต้านมอีกข้างในลักษณะเดียวกัน
6. คลำซ้ำแบบเดิม แต่เปลี่ยนเป็นท่านอนราบ และใช้หมอนหนุนไหล่ข้างที่จะคลำตรวจ

โรคและอาการที่อาจเกิดขึ้นได้กับเต้านม
1. มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงโดยเฉพาะในกลุ่ม ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป แต่ในปัจจุบันมะเร็งเต้านมกลับพบมากขึ้นในผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี โดยเฉลี่ย จะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในอัตรา 1 ใน 8 ซึ่งผู้ป่วยมักจะไม่แสดงอาการแรกเริ่มให้เห็น อาจคลำพบเพียงก้อนเนื้อบริเวณเต้านมหรือใต้รักแร้ซึ่งกดแล้วอาจจะเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้
2. ก้อนหรือถุงน้ำในเต้านมชนิดไม่ร้ายแรง (Benign Breast Disease) เกิดจากขึ้นได้หลายสาเหตุและมีหลายชนิด ซึ่งลักษณะของเนื้องอกบางชนิดอาจคล้ายว่าเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งเต้านม แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก้อนเนื้องอกเต้านมมักเป็นเนื้องอกประเภทที่ไม่ใช่มะเร็ง (Noncancerous) ซึ่งก้อนในเต้านมชนิดไม่ร้ายแรงก็มีอยู่หลายชนิด เช่น
– ถุงน้ำในเต้านม (Breast Cysts) เกิดจากน้ำขังในเต้านม พบได้ทั่วไปและมักจะยุบหายไปได้เอง สามารถคลำเจอถุงน้ำได้ด้วยตัวเอง หากมีขนาดเล็กและไม่เจ็บอาจไม่จำเป็นต้องรักษา เสมอไป แต่หากมีอาการเจ็บหรือขนาดใหญ่ขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
– กลุ่มภาวะถุงน้ำในเต้านม (Fibrocystic Breast Changes) เป็นภาวะถุงน้ำในเต้านมไฟโบรซิสติค เช่น มีถุงน้ำ ท่อน้ำนมขยาย มีพังผืด เป็นต้น ปกติมักพบถุงน้ำหรือซีสต์เป็นส่วนใหญ่ มักเกิดในช่วงที่ฮอร์โมนเพศหญิงผิดปกติ และช่วงก่อนมีประจำเดือน พบได้ทั่วไปในเพศหญิง 30 – 50 ปี ซึ่งถุงน้ำมักจะหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่หากคลำเจอก้อนในเต้านมแล้วพบว่ามีขนาดใหญ่กว่าปกติ ถุงน้ำไม่ยุบ หรือรู้สึกเจ็บ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
– เนื้องอกในเต้านมชนิดไม่ร้ายแรง (Fibroadenoma) ก้อนเนื้องอกชนิดนี้สามารถพบได้ทั่วไป มีขนาดประมาณ 1 – 5 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง พบได้ตั้งแต่อายุ 15 – 35 ปี ปกติมักหายได้เอง แต่อย่างไรก็ตามหากมีเนื้องอกชนิดนี้ อาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจโดยแพทย์เพื่อคัดกรองว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดมะเร็งหรือไม่
– ก้อนเต้านมจากเซลล์ไขมันในเต้านมถูกทำลาย (Traumatic Fat Necrosis) เกิดจากความเสียหายของเนื้อเยื่อ มักเกิดขึ้นจากการที่เต้านมได้รับการกระทบกระเทือนรุนแรงจากอุบัติเหตุ หรือ
การบาดเจ็บจนเกิดเลือดออกในเต้านม มักเกิดกับผู้ที่เต้านมขนาดใหญ่ เมื่อเกิดการบาดเจ็บจะทำให้ไขมันในเต้านมอักเสบและเกาะรวมกันจนเป็นก้อนในเต้านม โดยสามารถหายได้เองหรือผ่าตัดเพื่อนำออกได้
3. ภาวะที่มีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม (Nipple Discharge) คือภาวะที่มีของเหลวไหลออกจากเต้านม ซึ่งอาจเกิดที่เต้านมข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ปกติ มักพบภาวะนี้ได้ในหญิงตั้งครรถ์ในระยะใกล้คลอด หรือหลังคลอดบุตร แต่หากมีของเหลวไหลออกจากหัวนมในช่วงเวลาที่ไม่ได้ตั้งควร ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองเพื่อหาสาเหตุ เพราะอาจเกิดจาก ก้อนเนื้อหรือความผิดปกติภายในเต้านมได้
4. เต้านมอักเสบ (Breast infection หรือ Mastitis) เต้านมอักเสบเป็นภาวะที่เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อ เต้านม ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อ พบได้บ่อยในเพศหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร มักเกิดจากการที่อุดตัน ของท่อน้ำนมจนทำให้เกิดจากอักเสบและติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ที่เป็นเต้านมอักเสบจะมีอาการปวดเต้านม คลำเจอก้อนแข็งในเต้านม บางคนอาจมีอาการไข้หรือหนาวสั่น
5. ฝีเต้านม (Breast abscess) เต้านมเป็นฝีเป็นภาวะที่เต้านมเกิดการอักเสบภายในเต้านมจนเกิดเป็นฝีหนองอยู่ภายใน ซึ่งมักเป็นต่อเนื่องมาจากเต้านมอักเสบ (Mastitis) เต้านมข้างที่เป็นฝีจะมีอาการบวมแดง ร้อน และเจ็บ สามารถคลำก้อนฝีในเต้านมได้ด้วยตัวเอง