ภาวะเส้นเอ็นอักเสบ
เส้นเอ็นอักเสบ (Tendinitis) สามารถเกิดกับทุกเพศทุกวัย ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่นักกีฬาเท่านั้น สาเหตุมักเกิดจากการใช้งานเส้นเอ็นหนักเกินไป หรือได้รับบาดเจ็บซ้ำที่เดิมจนเกิดการอักเสบ ทำให้เกิดอาการปวด กดแล้วรู้สึกเจ็บบริเวณเส้นเอ็น โดยปกติอาการดังกล่าวส่วนใหญ่มักดีขึ้นเองภายใน 2 – 3 วัน หากลดการใช้งานเส้นเอ็นบริเวณที่บาดเจ็บลง แต่หากยังพบว่ามีอาการรุนแรงอยู่ อาจเกิดจากภาวะ
เส้นเอ็นฉีกได้
สาเหตุการเกิดอาการเส้นเอ็นอักเสบ
- การเคลื่อนไหวเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณใดบริเวณหนึ่งซ้ำเป็นเวลานาน ทำให้เอ็นบริเวณที่ถูกใช้งานตึงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการอักเสบ
- อุบัติเหตุ ส่วนใหญ่มักได้รับบาดเจ็บอย่างฉับพลันจากการออกกำลังกาย เล่นกีฬา ซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจก่อนให้เกิดอาการเอ็นฉีกขาดได้ หรือไม่ได้ทำการคลายกล้ามเนื้อก่อนและหลังออกกำลังกาย
(Warm Up – Cool Down) - ท่านั่งทำงาน หรือท่านอนที่ไม่เหมาะสม ทำให้เอ็นเกิดการเกร็งตัวตลอดเวลา ทำให้เกิดโอกาสเอ็นอักเสบได้
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความยืดหยุ่นลดลง ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่ายขึ้น
- ผู้ป่วยโรคข้อเรื้อรัง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบติดแข็ง และกลุ่มอาการไรเตอร์ เป็นต้น
อาการของภาวะเส้นเอ็นอักเสบ
- ปวดบริเวณที่เกิดเส้นเอ็นอักเสบ โดยจะปวดตื้อๆ บ่อยครั้ง และปวดมากขึ้นเมื่อขยับ
- รู้สึกร้อนบริเวณที่มีอาการปวด
- ผิวแดง มีก้อนบวมนูนตามบริเวณที่มีการอักเสบ
การวินิจฉัยภาวะเส้นเอ็นอักเสบ
โดยปกติภาวะเส้นเอ็นอักเสบสามารถวินิจฉัยได้ทั้งการซักประวัติและตรวจร่างกายตามปกติ เพื่อสอบถามอาการเบื้องต้น เช่น กิจกรรมที่คาดว่าอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการ ลักษณะของอาการปวด ความถี่และระยะเวลาที่เกิด นอกจากนี้หากแพทย์ประเมินแล้วจำเป็นต้องวินิจฉัยเพิ่ม สามารถทำการตรวจโดยเทคโนโยลีทางการแพทย์ คือ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือ การเอกซเรย์เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำและการวางแผนการรักษาในระยะต่อไป