ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืดเนื่องจาก เกิดจากการทำงานที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบและปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณคอ หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือ ซึ่งหากปล่อยให้ลุกลาม อาจส่งผลให้กลายเป็นอาการปวดเรื้อรังได้ในที่สุด
สาเหตุของการเกิดออฟฟิศซินโดรม
ออฟฟิศซินโดรมถือเป็นโรคยอดฮิตของเหล่าวัยทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานออฟฟิศที่ต้องใช้ชีวิตประจำวันด้วยท่าทางเดิมเป็นเวลานาน เช่น การนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะทำงานเป็นเวลานานโดยที่ไม่ได้ขยับหรือเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้เกิดการตึงที่กล้ามเนื้อและอักเสบได้ นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนไม่เพียงพอ การนั่งหรือยืนหลังค่อม คอยื่น ไหล่งุ้ม หรือนั่งไขว่ห้างเป็นประจำ รวมถึงการสะพายกระเป๋าหรือ ยกของหนักเป็นเวลานานก็มีส่วนให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมเช่นกัน
อาการของออฟฟิศซินโดรม
1. ปวดกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่ง มักไม่สามารถระบุจุดที่ปวดได้ชัดเจน ซึ่งอาจจะระบุได้กว้างๆ เช่น ช่วงบ่า ไหล่ คอ หรือสะบัก เป็นต้น
2. ปวดศีรษะเรื้อรัง บางครั้งอาจมีอาการปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย เกิดจากการใช้สายตาจ้อง บางสิ่งเป็นเวลานาน หรือเกิดจากความเครียด
3. ปวดหลังเรื้อรัง พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรม จากการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หลายชั่วโมง นั่งไม่ถูกท่า นั่งหลังค้อม อาจทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ เมื่อย เกร็งอยู่ตลอด รวมถึงงานที่ต้องยืนต่อเนื่องไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบท หรือผู้ที่ต้องยืนโดยใส่รองเท้าที่มีส้นต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
4. ปวดตึงที่ขา หรือเหน็บชา อาการชาเกิดจากการนั่งนานท่าเดิมเป็นเวลานาน ทำให้เส้นเลือดดำถูกกดทับและส่งผลให้เลือดไหลเวียนผิดปกติ
5. ปวดตา ตาพร่า จากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานหรือใช้สายตาอย่างหนัก
6. มือชา นิ้วล็อค ปวดข้อมือ จากการใช้คอมพิวเตอร์และจับเมาส์ท่าเดิมเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบ เกิดพังผืดทำให้ปวดปลายประสาท นิ้วหรือ ข้อมือล็อคได้
การวินิจฉัยอาการออฟฟิศซินโดรม
ปัจจุบันการวินิฉัยอาการออฟฟิศซินโดรมสามารถทำได้หลายวิธี การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นวิธีการตรวจที่สะดวก รวดเร็ว และได้มาตรฐาน นอกจากนี้ยังสามารถวินิจฉัยจำแนกได้ว่าอาการออฟฟิศซินโดรมจากโรคอื่นๆ ที่อาจมีอาการใกล้เคียงกัน เช่น โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท โรคกระดูกสันหลังคด เป็นต้น
การป้องกันการเกิดอาการออฟฟิศซินโดรม
แท้จริงแล้วการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและอิริยาบถถือเป็นการป้องกันที่ต้นเหตุ แต่หากเกิดอาการขึ้นแล้ว สามารถปรับพฤติกรรมเพื่อบรรเทาอาการได้ดังนี้
1. ออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง โดยเน้นให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวทุกส่วน โดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อและเอ็นกล้ามเนื้อที่มักปวดได้ง่าย
2. ยืดกล้ามเนื้อเพื่อคลายกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานเป็นประจำ
3. เปลี่ยนอิริยาบถระหว่างนั่งทำงานอย่างน้อย 1 ครั้ง/ชั่วโมง ด้วยการลุกเดิน หรือเปลี่ยนท่านั่ง เพื่อให้ร่างกายได้พัก
4. บริหารร่างกายเบาๆ ด้วยอุปกรณ์ใกล้ตัว เช่น ขวดน้ำ ลูกบอลบีบบริหารมือ เป็นต้น