ปวดในช่องท้อง อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคร้าย

ช่องท้องประกอบไปด้วยอวัยวะสำคัญมากมาย ที่ทำหน้าที่ทั้งการย่อย และดูดซึมสารอาหาร ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต รวมถึงขับของเสียที่ไม่จำเป็นในรูปแบบของกากอาหารและของเหลว เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับ ตับอ่อน ไต กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งหากอวัยวะเหล่านี้ทำงานผิดปกติ ย่อมส่งสัญญาณผิดปกติและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยอาการที่มักสังเกตได้ง่ายคือ ปวดท้อง ซึ่งควรหมั่นสังเกตความผิดปกติ เพราะหากปวดเพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะการป่วยรุนแรงที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้

ตำแหน่งปวดท้องบ่งบอกโรคได้
ช่องท้องในตำแหน่งต่างๆ สามารถประเมินโอกาสที่จะเกิดโรคของอวัยวะในช่องท้องได้ โดยมักสังเกตได้จากอาการปวดท้อง ซึ่งอาจเกิดได้จากทั้งในอวัยวะในช่องท้องเองหรืออวัยวะนอกช่องท้องก็ได้ ซึ่งสามารถแบ่งบริเวณที่มักเกิดอาการหลักๆ ได้ 7 จุดนี้
1. ช่องท้องบริเวณขวาบน มักเป็นโรคที่เกิดขึ้นบริเวณตับ ถุงน้ำดี ลำไส้ที่อยู่บริเวณนี้และไตขวา เช่น ตับอักเสบ นิ่งในถุงน้ำดี กรวยไตด้านขวาอักเสบ นิ่วในไตขวา เป็นต้น
2. ช่องท้องบริเวณขวาล่าง มักเป็นโรคที่เกิดขึ้นบริเวณไส้ติ่ง ลำไส้ที่อยู่บริเวณนี้ ปีกมดลูกด้านขวา เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ปีกมดลูกขวาอักเสบ เป็นต้น
3. บริเวณใต้ลิ้นปี่ โรคที่เกิดขึ้นบริเวณนี้มักเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร หลอดอาหารส่วนล่าง ถุงน้ำดี เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ กรดไหลย้อน นิ่วในถุงน้ำดี เป็นต้น
4. บริเวณสะดือหรือรอบๆ ซึ่งเป็นบริเวณตำแหน่งลำไส้เล็ก ซึ่งอาจพบอาการโรคลำไส้อักเสบ รวมถึงอาการเริ่มต้นของโรคไส้ติ่งอักเสบ
5. บริเวณเหนือหัวหน่าว มักเป็นอาการของโรคกระเพาะปัสสาวะ มดลูกอักเสบ เนื้องอกในมดลูก หรือ ซีสต์ (Cyst) เป็นต้น
6. ช่องท้องบริเวณซ้ายช่วงบน มักพบอาการของโรคที่เกิดขึ้นบริเวณกระเพาะอาหาร ม้าม ตับอ่อน ลำไส้ที่อยู่บริเวณนี้และไตซ้าย เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ม้ามแตก กรวยไตด้านซ้ายอักเสบ นิ่วในไตด้านซ้าย เป็นต้น
7. ช่องท้องบริเวณซ้ายช่วงล่าง อาการที่พบมักเป็นอาการของโรคปีกมดลูกด้านซ้ายอักเสบ ลำไส้อักเสบ เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคในช่องท้อง
ปกติแล้วโรคในช่องท้องมักแสดงอาการคล้ายกัน เช่น ปวดท้อง จนหลายครั้งอาจวินิจฉัยผิดพลาดหรือผู้ป่วยเองนิ่งนอนใจคิดว่าเป็นเพียงอาการปวดท้องธรรมดา หรือโรคกระเพาะจนทำให้วินิจฉัยล่าช้า และอาจส่งผลทำให้อาการรุนแรงได้ แท้จริงแล้วอาการปวดท้องในแต่ละโรคนั้นไม่เหมือนกัน จึงต้องอาศัยการสังเกตและความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทางในการวินิจฉัย รวมถึงบางโรคจำเป็นต้องใช้เครื่องมือในการตรวจ เช่น การอัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และ การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการวินิจฉัยและการวางแผนรักษาโรคอีกด้วย