อาการเห็นภาพซ้อน (Diplopia) เกิดจากความผิดปกติของดวงตาที่ทำให้เห็นวัตถุจากหนึ่งชิ้น เป็นสองชิ้นโดยที่ชิ้นใดชิ้นหนึ่งมีลักษณะเบลอ จาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยอาการเห็นภาพซ้อนสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับดวงตาเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
สาเหตุการเกิดอาการเห็นภาพซ้อน
อาการเห็นภาพซ้อนเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ โดยแบ่งตามชนิดที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้
1. เห็นภาพซ้อนเมื่อมองด้วยตาข้างเดียว (Monocular) โดยอาการดังกล่าวจะหายไปเมื่อปิดตาข้างที่มีอาการ แต่ไม่สามารถทำให้อาการหายขาดได้ โดยรูปแบบการเห็นภาพซ้อนอาจเกิดขึ้นด้วยสาเหตุดังนี้
– สายตาเอียง หรือ ภาวะผิดปกติของส่วนโค้งบนพื้นผิวกระจกตาส่วนหน้า
– กระจกตาโป่ง เกิดจากกระจกตาที่ค่อยๆ บางลงและเปลี่ยนรูปทรงคล้ายกับทรงกรวย
– ตาแห้ง
– เปลือกตาบวม
– จอประสาทตาเกิดความผิดปกติ เช่น เกิดพังผืดบนจอตา จอประสาทตาบวม หรือแผลเป็นบนจอประสาทตา
– กระจกตาเคลื่อน อาจเกิดจากการบาดเจ็บหรือผลกระทบจากกลุ่มอาการมาร์แฟน (Marfan’s Syndrome)
– โรคต้อเนื้อ เกิดจากเยื่อตาที่หนาขึ้นและยื่นออกไปยังกระจกตา ทำให้ทัศนวิสัย การมองเห็นเปลี่ยนไป
– โรคต้อกระจก เกิดจากกระจกตาเกิดความขุ่นมัว มักพบมากในผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ใช้ยาที่มีสเตียรอยด์ และผู้ที่รับการรักษาด้วยวิธีการฉายรังสี
2. เห็นภาพซ้อนเมื่อมองด้วยตาสองข้าง (Binocular) มักเกิดจากกล้ามเนื้อตามีความผิดปกติและภาวะดวงตาทั้งสองข้างไม่มองไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งการมองเห็นภาพซ้อนอาจหายเมื่อปิดตาข้างใดข้างหนึ่ง โดยการเห็นภาพซ้อนด้วยดวงตาสองข้างอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
– ตาเหล่
– กล้ามเนื้อตาได้รับบาดเจ็บ
– เส้นประสาทกล้ามเนื้อควบคุมดวงตาได้รับความเสียหาย อาจเกิดจากการติดเชื้อ เนื้องอกในสมอง และโรคหลอดเลือดสมอง
– โรคเกรฟส์ (Gravers’ Disease) เป็นความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ซึ่งอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อตาหนาขึ้น
– โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Myasthenia Gravis) เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่บริเวณรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อลาย ทำให้เกิดการนำกระแสประสาทลดลงและมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
– โรคเบาหวาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อตา ทำให้เกิดภาพซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนจากการเห็นภาพซ้อน
อาการเห็นภาวะซ้อนสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอาการ ซึ่งอาจแตกต่างไปจากโรค ที่ทาให้เกิดภาพซ้อน ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่โรคทั่วไปหรือโรคร้ายแรง โดยสังเกตได้จากการมีอาการคลื่นไส้ บ้านหมุน สายตาล้า หรือดวงตาไวต่อแสงและเสียงได้ในผู้ป่วยบางราย นอกจากนี้ การเห็นภาพซ้อน อาจเป็นสัญญาณอันตรายจากการติดเชื้อ ซึ่งหากเกิดอาการปวดตาหรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงควบคู่ไปกับการเห็นภาพซ้อนหรือปัญหาทางการมองเห็นอื่นๆ ซึ่งหากมีอาการบ่อยขึ้น หรือรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ทันทีเนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การวินิจฉัยอาการเห็นภาพซ้อน
เบื้องต้นในการวินิจฉัยอาการเห็นภาพซ้อน แพทย์จะเริ่มด้วยการตรวจร่างกาย ซักประวัติ อาจะทำการทดสอบการเคลื่อนไหวของลูกตาด้วยการให้ผู้ป่วยมองตามนิ้วหรืออุปกรณ์สำหรับการตรวจ เนื่องจากอาการในกลุ่ม Binocular มักมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อควบคุมดวงที่ผิดปกติ นอกจากนี้อาจใช้วิธีการอื่นร่วมด้วย เช่น วัดค่าสายตา องศาของภาพซ้อน ตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติ เช่น โรคเบาหวาน หรือการตรวจด้วยการวินิจฉัยด้วยภาพโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และการตรวจเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT Scan) ซึ่งจะช่วยตรวจสอบว่าพบเนื้องอกภายในศีรษะ เกิดอาการบาดเจ็บ หรือมีเลือดออกภายในศีรษะหรือไม่ เป็นต้น