ร่ายกายของมนุษย์ประกอบไปด้วยระบบมากมายที่ช่วยให้เกิดการสร้างพลังงานเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งหนึ่งในระบบที่สำคัญไม่แพ้ระบบอื่นๆ นั่นคือ “ระบบขับถ่าย” ซึ่งทำหน้าที่ในการขับของเสียส่วนเกินภายในร่างกายออกในรูปแบบต่างๆ ประกอบด้วยอวัยวะสำคัญดังนี้
1.ไต หน้าที่หลักของไต คือ การขับของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ และรักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย สร้างสารควบคุมความดันโลหิต กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด รวมถึงกำจัดสารพิษ สารเคมีและขับออกจากร่างกายในรูปแบบของปัสสาวะ
2.ผิวหนัง โดยมีต่อมเหงื่อที่ทำหน้าที่ในการขับของเสียในรูปแบบของเหงื่อ ซึ่งต่อมเหงื่อมี 2 ชนิดได้แก่ ต่อมเหงื่อขนาดเล็ก กระจายอยู่ทั่วผิวหนังในร่างกาย ยกเว้นริมฝีปากและอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งโดยปกติจะขับเหงื่อตลอดเวลา ซึ่งของเสียที่ถูกขับทางต่อมเหงื่อประกอบด้วยน้ำ โซเดียม และยูเรีย ต่อมเหงื่อขนาดใหญ่ จะอยู่บริเวณ รักแร้ รอบหัวนม รอบสะดือ ช่องหูส่วนนอก อวัยวะเพศบางส่วน โดยจะทำหน้าที่ขับกลิ่นหรือที่เรียกว่า “กลิ่นตัว”
3.ปอด ทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือด โดยระบบไหลเวียนเลือดจะนำก๊าซออกซิเจนที่ได้นั้นไปใช้ในการเผาผลาญให้เกิดพลังงานภายในร่างกายและเมื่อใช้งานแล้วจะเกิดของเสียขึ้นคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก๊าซดังกล่าวจะถูกลำเลียงโดยระบบไหลเวียนเลือดกลับมาที่ปอดเพื่อกรองและขับออกจากร่างกายโดยการหายใจออก
4.ลำไส้ใหญ่ ทำหน้าที่ในการดูดซึมของเหลว น้ำ เกลือแร่ และน้ำตาลกลูโคสที่ยังตกค้างในกากอาหารที่รับต่อมาจากลำไส้เล็ก ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มักเกิดบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนต้น และส่งต่อไปยังลำไส้ใหญ่ส่วนปลายซึ่งจะเป็นที่พักกากอาหารในลักษณะกึ่งของแข็ง และถูกขับออกในรูปแบบของอุจจาระ
รู้หรือไม่ ลำไส้ใหญ่เป็นอวัยวะในระบบขับถ่ายส่วนเดียวที่ไม่ได้มีกระบวนการเผาผลาญเกิดขึ้นภายในอวัยวะ บางตำราจึงไม่นับลำไส้ใหญ่อยู่ในระบบขับถ่ายตามหลักชีววิทยา
โรคที่มักเกิดขึ้นในระบบขับถ่าย
ส่วนมากโรคในระบบขับถ่ายที่คนมักคิดถึงเป็นอันดับต้นๆ มักได้แก่โรคที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะได้ดังนี้
- โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ โรคนิ่วในไตและท่อไต เกิดจากการตกตะกอนของสารต่างๆ ในปัสสาวะที่จับตัวเป็นก้อนแข็งลักษณะคล้ายหินปูนขนาดเล็ก และตกลงอยู่ในบริเวณไต และท่อไต โรคไตเรื้อรัง คือ ภาวะที่ไตถูกทำลายจนไม่สามารถกรองของเสียออกจากระบบไหลเวียนเลือดได้ตามปกติและเกิดอาการเรื้อรัง ซึ่งโรคไตเรื้อรังมักเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่สะสมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
ซึ่งส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นของร่างกายและเป็นสาเหตุในการเกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เพราะไตไม่สามารถขับของเสียจนเกิดป็นสารตกค้างในเลือด
- โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เกิดขึ้นได้ทั้งจากนิ่วที่เกิดในไตหรือท่อไตที่หลุดลงมาสะสมในกระเพาะปัสสาวะ หรือที่เกิดภายในกระเพาะปัสสาวะเอง ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นภายในกระเพาะปัสสาวะเอง เกิดจากน้ำปัสสาวะที่มีความเข้มข้นจนเกิดการตกผลึกเป็นก้อน เมื่อเวลาผ่านไปมีการจับตัวและมีขนาดใหญ่ขึ้นจนเกิดการอุดตันที่ทางเดินปัสสาวะ
- ภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เกิดจากการอักเสบภายในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรค เช่น โรคท่อปัสสาวะอักเสบ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และโรคกรวยไตอักเสบ
- โรคมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเกิดได้ทั้งจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อในอวัยวะของระบบทางเดินปัสสาวะเอง หรือเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆ ซึ่งโรคมะเร็งที่มักพบได้บ่อย คือ มะเร็งท่อไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งสามารถพบได้ทั้งเพศชายและหญิง รวมถึงมะเร็งต่อมลูกหมากที่พบได้มากในเพศชายอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
โรงพยาบาลนครธน “โรคระบบทางเดินปัสสาวะ” (2566) [ระบบออนไลน์].
https://www.nakornthon.com/article/detail/ระบบทางเดินปัสสาวะ
True ปลูกปัญญา “ระบบขับถ่าย” (2564) [ระบบออนไลน์].
https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/33934
National Geographic ฉบับภาษาไทย “ระบบขับถ่ายของเสีย มีบทบางอย่างไร และประกอบไปด้วยอะไรบ้าง (2562) [ระบบออนไลน์].