หลายคนทราบดีว่าการบริโภคอาหารรสเค็มติดต่อกันเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดโอกาสเสี่ยง ในการเกิดโรคไตได้ แต่ทราบหรือไม่ว่าพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหาร กิจวัตรประจำวัน หรืออาการเสี่ยงจากโรคอื่นก็ส่งผลให้เกิดโรคไตได้เช่นกัน
ทำความรู้จักกับ “ไต”
ไต (Kidney) เป็นอวัยวะที่สำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของระบบขับถ่าย โดยทำหน้าที่ขับของเสีย ที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น เกลือแร่ สารเคมีส่วนเกิน ในรูปแบบของเหลว คือ “ปัสสาวะ” ที่เกิดจากการ เผาผลาญสารอาหารต่างๆ และช่วยรักษาสมดุลของเกลือแร่และความปกติของน้ำในร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่สร้างสารคสบคุมความดันโลลิตและสารกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
รูปร่างของไต จะมีลักษณะคล้ายเม็ดถั่วเหลือง มีขนาดเท่ากำปั้น โดยปกติจะมี 2 ข้างวางอยู่บริเวณกลางหลังด้านละ 1 อัน เมื่อไตกรองของเสียเรียบร้อยแล้วจะถูกลำเลียงผ่านท่อไตไปเก็บไว้ ที่กระเพาะปัสสาวะ เพื่อรอการถ่ายปัสสาวะออกนอกร่างกาย
พฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคไต ดังนี้
1. ทานอาหารรสจัดเป็นประจำ ไม่ใช่แค่อาหารรสเค็ม แต่รวมถึงรสหวาน รสเผ็ด หรืออาหาร ที่มีความมัน ทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้น
2. ไม่ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคหลายชนิด เช่น โรคอ้วน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด ไขมันพอกตับ โรคหัวใจ และส่งผลให้เกิดโรคไตด้วยในที่สุดและอาจร้ายแรงจนถึงภาวะไตวายได้
3. ดื่มน้ำน้อยหรือมากเกินไป การดื่มน้ำน้อยมักเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ รวมถึงโรคไต เพราะไตที่ทำหน้าที่ฟอกของเสียของจากร่างกายนั้นจำเป็นต้องมีน้ำเป็นตัวกลางในการพาเข้าสู่กระบวนการกรองของเสียจนกลายเป็นปัสสาวะ หรือหากดื่มน้ำมากเกินไป ไตเองก็ทำงานงานหนักเช่นกันแต่ส่งผลเสียน้อยกว่าการดื่มน้ำน้อย
4. ทำงานหนักจนเกินไป การทำงานหนักส่งผลต่อการเกิดโรคไตด้วยเช่นกัน เหตุจากขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ อวัยวะภายในร่างกายจึงไม่ได้รับการฟื้นฟูและซ่อมแซมตัวเองได้อย่างเต็มที่ ทำให้อวัยวะที่ทำหน้าที่ฟอกของเสียในร่างกายอย่างไตต้องทำงานอย่างหนักไปด้วยเช่นกัน
5. ความเครียด มักมาพร้อมกับการทำงานอย่างหนักและขาดการพักผ่อน ซึ่งหากเครียดมากร่างกายของเราจะหายใจเอาออกซิเจนเข้าร่างกายไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้อย่างไม่เต็มที่ ซึ่งไตเองก็เป็นอวัยวะหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าวด้วยเช่นกัน
6. ทานอาหารที่มีโซเดียมสูงหรืออาหารสำเร็จรูปที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแปรรูปที่มีการปรุงเค็ม หรือหวาน เพื่อการถนอมอาหารให้ยืดอายุการรักษาคุณภาพอาหารให้นานขึ้น มักมีโซเดียมในปริมาณสูง ซึ่งหากบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานานมักเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไตได้
7. ความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุที่เพิ่มโอกาสให้เกิดโรคไตได้ยิ่งขึ้นด้วย หากปล่อยให้อาการ ความดันโลหิตสูงติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่รีบรักษา ความดันโลหิตสูงจะทำลายเส้นเลือดที่ไต ทำให้เนื้อไตถูกทำลายหรืออาจเรียกภาวะนี้ได้ว่า “ไตวายชั่วคราว”
อาการของโรคไต
1. ปัสสาวะมีลักษณะผิดปกติ เช่น สีผิดปกติ มีเลือดปน หรือเป็นฟองจากการมีโปรตีนรั่ว หรือมีนิ่วปนออกมา
2. ปัสสาวะน้อยหรือบ่อยผิดปกติ เกิดจากความสามารถในการขับน้ำผิดปกติ
3. มีอาการตัวบวม ขาบวม หน้าบวม
4. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ผิวหนังซีด คัน มีจ้ำเลือดขึ้นง่าย
5. เบื่ออาหาร คลื่นไส้
6. รู้สึกมีรสขมในปากแม้ไม่ได้ทานอาหารรสขม ไม่สามารถรับรสอาหารได้ตามปกติ
7. ความดันโลหิตสูง
8. คลำพบก้อนเนื้อบริเวณไต
ข้อมูลอ้างอิง:
โรงพยาบาลกรุงเทพ, “หน้าที่ของไต” (2567).
https://www.bangkokhospitalhuahin.com/health-info/health-tips/1377
โรงพยาบาลศิครินทร์, “ไม่กินเค็ม ก็เป็นโรคไตได้” (2567).