ภาวะกะโหลกศีรษะเชื่อมติดกันผิดปกติ (Craniosynostosis) มักพบได้ในทารกแรกเกิด และสามารถสังเกตอาการได้ชัดขึ้นเมื่อทารกเริ่มโต เกิดจากกระดูกที่ประกอบกันเป็นกะโหลกศีรษะเชื่อมติดกันอย่างผิดปกติ ทำให้กดรัดสมองจนไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ โดยลักษณะอาการและความรุนแรงจะแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน ขึ้นอยู่กับชนิดและเนื้อเยื่อระหว่างกะโหลกที่เชื่อมติดกันก่อนวัย สามารถเกิดขึ้นเพียงจุดใดจุดหนึ่งบนกะโหลกศีรษะ หรือเกิดขึ้นพร้อมกันหลายจุดได้
สาเหตุการเกิดภาวะกะโหลกศีรษะเชื่อมติดกันผิดปกติ
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของการเกิดภาวะกะโหลกศีรษะเชื่อมติดกันผิดปกติ แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากความผิดปกติบางอย่างทางพันธุกรรม หรือโรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่ส่งผลกระทบ ต่อกระบวนการเจริญเติบโตของกะโหลกศีรษะทารกในครรภ์มารดา รอยประสานกะโหลกศีรษะและใบหน้า จะมีการเชื่อมกันอย่างผิดปกติและเกิดต่อเนื่องหลังคลอด ซึ่งทางการแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้หลังจาก ที่ทารกเกิดแล้ว แต่มักไม่สามารถตรวจเห็นได้ด้วยการ X-ray อย่างการ Ultrasound ที่มักนิยมทาในช่วงขณะตั้งครรภ์ได้
นอกจากนี้ การคลอดก่อนกำหนด หรือการใช้ยาบางชนิดของมารดาในช่วงก่อนตั้งครรภ์หรือ ช่วงตั้งครรภ์ในระยะแรก เช่น ยาโคลมิฟีน ซิเตรด (Clomiphene Citrate) หรือมารดาที่ป่วยด้วยโรคไทรอยด์ ก็อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้ทารกในครรภ์เกิดภาวะกะโหลกศีรษะเชื่อมติดกันผิดปกติได้เช่นกัน
อาการที่สามารถพบได้ในเด็กที่ป่วยด้วยภาวะกะโหลกศีรษะเชื่อมติดกันผิดปกติ
1. กะโหลกศีรษะมีรูปร่างผิดไปจากปกติ หรือมีความบิดเบี้ยวที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า
2. คลำไม่พบกระหม่อมบนศีรษะ
3. คลำศีรษะแล้วพบรอยนูนแข็ง
4. ขนาดของศีรษะโตช้ากว่าปกติ
5. พบรอยหลอดเลือดบริเวณศีรษะได้อย่างชัด
6. ผู้ป่วยบางรายมีความตื่นตัวผิดปกติ แต่บางรายอาจง่วงซึมผิดปกติ
7. ไม่ยอมดื่มนมแม่หรือรับประทานอาหาร
8. มีการอาเจียนลักษณะพุ่งแรง (Projectile Vomiting)
นอกจากนี้ อาการข้างต้นอาจเป็นสัญญาณของโรคและภาวะผิดปกติอื่นๆ ได้เช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง การมองเห็นผิดปกติ ใบหน้าหรือศีรษะผิดรูปถาวร หายใจลาบาก มีอาการชัก หรือมีปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาและสติปัญญา ซึ่งหากพบอาการเข้าข่ายต้องสงสัย ควรนำ บุตรหลานพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต หรือสุขภาพของบุตรหลานได้อนาคต
การวินิจฉัยภาวะกะโหลกศีรษะเชื่อมตัวกันผิดปกติ
โดยปกติแล้วภาวะกะโหลกศีรษะเชื่อมตัวผิดปกติจะสังเกตอาการได้ตั้งแต่แรกคลอดหรือภายหลัง แต่มักจะตรวจพบในเด็กอายุช่วงก่อน 1 ปี ซึ่งแพทย์จะตรวจดูบริเวณศีรษะทารกเพื่อดูขนาดและลักษณะของศีรษะบริเวณกระหม่อมและรอยต่อกะโหลก นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์วินิจฉัยอาการจะทำให้ได้ผลที่แม่นยำและหาจุดเกิดภาวะดังกล่าวได้ชัดเจน ช่วยให้การวางแผนการรักษาทำได้ดียิ่งขึ้น ดังนี้
1. การวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อดูภาพบริเวณกะโหลกศีรษะทารก
2. การตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรม (Genetic Testing) เพื่อตรวจดูว่าทารกมีโรคหรือภาวะผิดปกติทางพันธุกรรมหรือไม่
ข้อมูลอ้างอิง:
POBPAD, “กะโหลกศีรษะเชื่อมติดกันผิดปกติ (CRANIOSYNOSTOSIS)” [2567].
https://www.pobpad.com/ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, “กระโหลกศีรษะเชื่อมติดกันผิดปกติ (craniosynostosis)” [2562].
https://www.craniofacial.or.th/kn_craniosynostosis.php