ควันบุหรี่ อันตรายต่อคนรอบตัว

ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ก็เสี่ยงเป็นโรคปอดได้? “บุหรี่ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” มักเป็นคำที่ได้ยินบ่อยตามโฆษณารณรงค์ หรือพบได้บนซองบุหรี่ ทุกคนทราบดีถึงโทษจากการสูบบุหรี่เป็นประจำที่เป็นสาเหตุในการเกิดโรคต่างๆ แก่ผู้สูบ เช่น โรคปอดบวม โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เป็นต้น

แต่ทราบหรือไม่ว่าควันของบุหรี่ไม่ได้สร้างผลกระทบให้แก่ผู้ที่สูบเท่านั้น “บุหรี่มือสอง” คือ ชื่อเรียกผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการสูดดมควันบุหรี่จากคนใกล้ชิดเป็นประจำ ซึ่งควันบุหรี่มีสารเคมีหลากหลายชนิดที่ส่งผลเสียต่อผู้ที่สูดดม กว่า 4,000 ชนิด รวมถึงสารก่อมะเร็งอีกกว่า 60 ชนิด

สารพิษสำคัญที่พบได้ในควันบุหรี่
1. นิโคติน (Nicotine) มีลักษณะคล้ายน้ำมัน ไม่มีสี จัดเป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติด ออกฤทธิ์โดยตรงกับสมองและกดประสาทส่วนกลาง โดยนิโคตินมักจับตัวอยู่ที่ปอด บางส่วนถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดส่งผลโดยตรงต่อต่อมหมวกไตทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนอิฟิเนฟริน ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติและไม่เป็นจังหวะ ไขมันในเลือดสูงขึ้น
2.ทาร์ (Tar) หรือ น้ำมันดิน ซึ่งประกอบด้วยสารหลายชนิด ลักษณะเป็นละอองเหลวเหนียว มีสีน้ำตาล ซึ่งมักจับตัวที่ปอด ทำให้เหยื่อบุหลอดลมไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และเป็นสาเหตุ ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองซึ่งนำไปสู่การไอเรื้อรัง มีเสมหะ
3. คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) เป็นก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ จนเกิดเป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซชนิดเดียวกับที่พบได้ในควันจากท่อไอเสียรถยนต์ โดยคาร์บอนมอนอกไซด์ จะไปขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่หรือผู้ได้รับควันดังกล่าว รับออกซิเจนได้น้อยลงไม่ต่ำกว่า 10 – 15% ซึ่งส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วและทำงานหนักกว่าปกติ
4. ไฮโดรเจนไดออกไซน์ (Hydrogen Dioxide) เป็นก๊าซพิษที่มีฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่อบุหลอดลมส่วนต้น ทำให้เกิดการระคายเคือง ไอ มีเสมหะ และเป็นสาเหตุการเกิดโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
5. ไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogen Dioxide) เป็นก๊าซพิษที่มีฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่อบุหลอดลม ส่วนปลาย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคถุงลมปอดโป่งพอง
6. แอมโมเนีย (Ammonia) มีฤทธิ์ระคายเคืองเนื้อเยื่อ แสบตา แสบจมูก หลอดลมอักเสบ
7. ไซยาไนด์ (Cyanide) หรือชื่อที่รู้จักโดยทั่วไป คือ ยาเบื่อหนู ซึ่งก็เป็นสารที่พบได้ในบุหรี่เช่นกัน เมื่อได้รับจะมีอาการคลื่นไส้ เวียนหัว มึนงง มีผลกับความดันโลหิตสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ที่ได้รับ
บุหรี่มือสาม

นอกจากบุหรี่มือสองแล้ว ในปัจจุบันยังมี “บุหรี่มือสาม” ซึ่งเกิดจากการที่สารพิษจากควันบุหรี่ที่ดับแล้วแต่ยังคงเหลือตกค้างตามสิ่งแวดล้อม เช่น เสื้อผ้า เครื่องเรือน หรือบนร่างกาย เช่น เส้นผม ผิวหนัง รวมถึงในอากาศที่หายใจซึ่งเป็นอนุภาคละอองไอสารเคมีที่เป็นพิษที่ก่อให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจ ถึงแม้จะไม่ส่งผลกระทบเร็วเท่าผู้ที่สูบบุหรี่เอง แต่มีโอกาสที่จะป่วยได้ในระยะยาว ซึ่งกลุ่มที่ควรเฝ้าระวังได้แก่ สตรีตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ เด็กแรกเกิด – 2 ปี และกลุ่มผู้ป่วยด้วยโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจ เป็นต้น
โรค Evali อันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า

นอกจากบุหรี่แบบทั่วไปแล้ว ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่หรือ อยากทดลอง จากคำโฆษณาสรรพคุณที่อ้างว่าสามารถช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น หรือไม่อันตรายเท่าบุหรี่แบบเดิม อีกทั้งในปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ายังหาซื้อได้ง่าย ราคาสามารถเข้าถึงได้มากกว่าในอดีต ทั้งยังพบว่ากลุ่มอายุของผู้ที่สูบบุหรี่โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลงอย่างน่าตกใจ ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ แบตเตอรี่ ตัวทำให้เกิดควันและความร้อน และน้ำยา โดยหลักการทำงาน การเผาไหม้ของบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่ก่อให้เกิดควันเผาไหม้เหมือนบุหรี่ทั่วไปก็จริง แต่จะเกิดไอระเหยจากไอน้ำยาที่ถูกความร้อนจนถึงจุดระเหยจนกลายเป็นไอในที่สุด ซึ่งอนุภาคของไอระเหยดังกล่าวมีขนาดเล็กกว่าควันบุหรี่ทั่วไปและสามารถสูดเข้าไปในปอดส่วนลึกได้มากกว่าควันปกติ ซึ่งอนุภาคเล็ก จะไปจับกับเนื้อเยื่อปอดและและดูดซึมเข้ากระแสเลือด ซึ่งหากสูบบุหรี่ไฟฟ้าติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจเสี่ยงเป็นโรคปอดอักเสบ (Evali) ซึ่งมีความรุนแรงเทียบเท่าหรือมากกว่าโรคปอดอื่นๆ เช่นกัน

อาการของโรค Evali
1. มีไข้หนาวสั่น
2. หายใจลำบาก
3. มีอาการไอ หากรุนแรงอาจมีอาการไอเรื้อรัง
4. ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
ทั้งนี้ยังพบอีกว่าผู้ป่วยด้วยโรค Evali มักพบว่ามีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย น้ำหนักลด เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง:
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, “ในบุหรี่มีสารพิษอะไรบ้าง” (2560)
https://www.thaihealth.or.th
“สารประกอบในบุหรี่” (2567)
http://www.student.chula.ac.th
โรงพยาบาลกรุงเทพ ราชสีมา, “ควีนบุหรี่ มือสาม ภัยมือที่มองไม่เห็น” (2567)
https://www.bkh.co.th
ไทยรัฐออนไลน์, “EVALI ปอดอักเสบรุนแรง จาก..บุหรี่ไฟฟ้า” (2566)
https://www.thairath.co.th
โรงพยาบาลพญาไท, “บุหรี่ไฟฟ้า ดีจริงอย่างที่โฆษณาหรือว่ามีโอกาสฆ่าคนสูบได้เช่นกัน (2563)
https://www.phyathai.com