กระดูกสันหลัง

กระดูก เป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดอวัยวะหนึ่งของร่างกาย เป็นโครงสร้างที่ทำให้ร่างกายสามารถ คงรูปอยู่ได้ และเป็นจุดยึดเกาะกล้ามเนื้อและเอ็นต่างๆ อีกทั้งกระดูกบางส่วน เช่น กะโหลกศีรษะ กระดูกซี่โครง ยังทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกันอวัยวะภายใน เช่น สมอง ปอด หัวใจ เป็นต้น โดยกระดูกประกอบด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสเป็นหลัก ดังนั้น กระดูกจึงเป็นอวัยวะที่ควรดูแลให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยกระดูกในร่างกายมนุษย์แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ กระดูกแกน (Axial Skeleton) และ กระดูกรยางค์ (Appendicular Skeleton) ซึ่งกระดูกสันหลังจัดอยู่ในประเภทกระดูกแกน
ส่วนประกอบของกระดูกสันหลัง
กระดูกสันหลังของมนุษย์มีทั้งสิ้น 33 ชิ้น โดยจะจำแนกตามตำแหน่งและรูปร่างได้ 5 ส่วน ดังนี้
1. กระดูกสันหลังส่วนคอ (Cervical Spine) มีทั้งสิ้น 7 ชิ้น เป็นจุดยึดเกาะของกล้ามเนื้อและเอ็น ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของลำคอและศีรษะ
2. กระดูกสันหลังส่วนอก (Thoracic Spine) มีทั้งสิ้น 12 ชิ้น โดยกระดูกสันหลังส่วนนี้เชื่อมต่อกับกระดูกซี่โครงซึ่งทำหน้าที่ป้องกันอวัยวะภายในช่องอก คือ ปอดและหัวใจ และยังอยู่ใกล้กระดูกสะบัก ที่มีบทบาทสำคัญต่อกำรเคลื่อนไหวของไหล่
3. กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar Spine) มีทั้งสิ้น 5 ชิ้น มีขนาดใหญ่กว่ากระดูกสันหลังส่วนอื่น เป็นส่วนที่ต้องรองรับน้ำหนักส่วนบนของร่างกาย และมักเป็นส่วนที่พบอาการบาดเจ็บได้มากที่สุด
4. กระดูกสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ (Sacrum) มี 5 ระดับ เชื่อมติดกันเป็น 1 ชิ้น ทำหน้าที่ เพิ่มความมั่นคงให้กับกระดูกเชิงกรานและเป็นทางออกของเส้นประสาทไขสันหลัง
5. กระดูกสันหลังส่วนก้นกบ (Coccyx) มี 4 ระดับ เชื่อมติดกันเป็น 1 ชิ้น เป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อสะโพก
โรคที่มักพบได้ในกระดูกสันหลัง
โรคที่เกี่ยวกับกระดูกไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคกระดูกมีอายุลดลงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในวัยทำงานที่มีพฤติกรรมใช้ชีวิตประจำวันด้วยอิริยาบทเดิมเป็นประจำ ซึ่งบางพฤติกรรมอาจส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บเรื้อรังจนกลายเป็นสาเหตุของการป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังได้เช่นกัน
1. โรคกระดูกทับเส้น มักพบได้จากการนั่งหรืออยู่ในอิริยาบทเดิมเป็นเวลานาน กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นไม่ได้มีการพักยืดเพื่อคลายเส้น รวมถึงการยกของหนักเป็นประจำหรือเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาการกระดูกทับเส้นเกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณส่วนคอ ซึ่งจะมีอาการปวดคอ ขยับคอได้ไม่ปกติ ปวดร้าวแขน มีอาการชาที่ปลายนิ้วและฝ่ามือ และส่วนเอว ซึ่งจะมีอาการปวดหลังช่วงเอวเป็นระยะ แต่จะปวดมากเมื่อยืนนาน ก้มเงย มีอาการชาที่ขาและเท้า หากรุนแรงขึ้นอาจส่งผลให้เป็นอัมพาตได้
2. โรคกระดูกสันหลังคด มักพบอาการได้มากในผู้ที่ติดนิสัยนั่งไขว่ห้าง ซึ่งน้ำหนักตัวจะกดทับไปที่ก้นข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า ทำให้เกิดอาการชา ปวดเมื่อย และสังเกตได้ว่ากระดูกสันหลังคด
3. โรคกระดูกก้านคอเสื่อม ปัจจุบันเรามักก้มหน้าอยู่กับจอโทรศัพท์มือถือหรือจอคอมพิวเตอร์ เป็นเวลานานมากขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดอาการปวดเมื่อยสะสม จนเกิดอาการที่สะบักหัวไหล่ทั้ง 2 ข้างคล้าย ถูกกดอย่างแรง ปวดหลัง รวมถึงส่งผลให้กระดูกสันหลังส่วนอื่นเสื่อมด้วยได้
4. โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม มักพบอาการได้มากในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ทำให้เกิดอาการปวดหลัง แต่ทั้งนี้ผู้ที่ทำกิจกรรมด้วยอิริยาบทเดิมๆ เช่น นั่งนาน ยืนนาน ยกของหนัก ยกของผิดท่า เล่นกีฬาที่มีการใช้กระดูกสันหลังอย่างหนัก หรืออายุที่เพิ่มขึ้น ก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้เช่นกัน
ข้อมูลอ้ำงอิง:
นพ.ธีรชัย ผำณิตพงศ์, โรงพยำบำลพญำไท 3, “4 โรคกระดูกสันหลัง…ไม่แก่ ก็ป่วยได้” (2 มีนำคม 2559)
https://www.phyathai.com/th/article/2324-causes_of_spinal_diseases_in_young_people_branchpyt3
มหำวิทยำลัยมหิดล ศูนย์กำยภำพบำบัด คณะกำยภำพบำบัด “ปวดหลังส่วนบน…อำกำรปวดที่ไม่ควรมองข้ำง ตอนที่ 1” (14 มิถุนำยน 2566)
https://pt.mahidol.ac.th/ptcenter/knowledge-article/thoracic_pain_ep-1/