ข้อต่อ (Joint)

กระดูกแต่ละส่วนเชื่อมต่อกันด้วยเส้นเอ็นและข้อต่อ โดยเอ็น (Ligament) ทำหน้าที่ยึดเกาะระหว่างกระดูกแต่ละชิ้นให้เชื่อมต่อกันจนเป็นโครงร่าง และถือเป็นอวัยวะส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหว โดยมีข้อต่อ (Joint) มักจะอยู่บริเวณส่วนปลายของกระดูกทำหน้าที่เสมือนจุดเชื่อมต่อ ซึ่งมีลักษณะการต่อจะแตกต่างกันไปตามหน้าที่และการทำงานของอวัยวะบริเวณนั้นๆ
ข้อต่อมีกี่ประเภท?
1.ข้อต่อที่เคลื่อนไหวไม่ได้ (Completely Immovable Joint) เป็นข้อต่อประเภทที่พบได้ในกระดูกที่มีลักษณะแบน ขอบหยัก ถูกเชื่อมกันโดย Fibrous Tissue และเส้นใยของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันแทรกอยู่ระหว่างช่องว่างตามรอยต่อ พบได้บริเวณกระโหลกศีรษะ กระดูกใบหน้า เป็นต้น
2.ข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้ (Slightly Movable Joint) เป็นข้อต่อประเภทที่พบได้ทั่วไป เกิดจากการที่ปลายของกระดูก 2 ชิ้นมาเชื่อมต่อกันและสามารถเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ข้อต่อที่มีกระดูกอ่อนเป็นตัวเชื่อม พบได้ในข้อต่อกระดูกสันหลัง และ ข้อต่อที่มีเอ็นยึด พบได้ที่ปลายกระดูกขาท่อนล่าง
3.ข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ (Freely Movable Joint) เป็นข้อต่อประเภทที่พบได้มากที่สุดในระบบโครงกระดูก เกิดจากปลายกระดูก 2 ชิ้นซึ่งอยู่ต่อกัน โดยหัวและท้ายของกระดูกจะถูกหุ้มด้วยกระดูกอ่อน มีเอ็นยึดเชื่อมระหว่างกระดูกในลักษณะคล้ายถุงโดยภายในจะมีเยื่อบางๆ ช่วยขับของเหลวสำหรับหล่อลื่นข้อต่อและลดการเสียดสีขณะเคลื่อนไหว โดยสามารถแบ่งย่อยข้อต่อประเภทนี้ได้เป็น 5 แบบ ดังนี้
– แบบเบ้า (Ball and Socket Joint) โดยปลายกระดูกชิ้นหนึ่งจะมีลักษณะกลมคล้ายลูกบอล สอดเข้าไปในปลายกระดูกอีกชิ้นที่เว้าเป็นลักษณะเบ้ารองรับ ทำให้ข้อต่อชนิดนี้สามารถเคลื่อนไหวได้เกือบทุกทิศทาง พบได้ที่กระดูกสะโพก และกระดูกหัวไหล่
– แบบบานพับ (Hinge Joint) สามารถเคลื่อนไหวได้ทิศทางเดียว คล้ายกับบานพับประตู มักพบข้อต่อชนิดนี้ได้บริเวณข้อศอก หัวเข่า นิ้วมือ นิ้วเท้า
– แบบอานม้า (Saddle Joint) เป็นข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทาง ลักษณะการเคลื่อนไหวคล้ายกับข้อต่อแบบบานพับ พบได้ในข้อต่อระหว่างโคนนิ้วและข้อมือ
– แบบแบนราบ (Gliding Joint or Plane Joint) เป็นข้อต่อระหว่างกระดูกที่มีหน้าตัดเรียบ เคลื่อนไหวในลักษณะเสียดสีกันไปมา พบได้บริเวณกระดูกข้อมือและข้อต่อกระดูกข้อเท้า
– แบบเดือย (Pivot Joint) เป็นข้อต่อแบบกระดูกชิ้นหนึ่งหมุนอยู่ในวงของกระดูกอีกชิ้นในลักษณะคล้ายเดือยไม้เชื่อมมุมหรือขอบไม้ พบได้บริเวณข้อต่อต้นคอ ฐานกะโหลกศีรษะ
– แบบวงรี (Ellipsoidal/Condylar joint) เป็นข้อต่อที่มีลักษณะคล้ายกับแบบเบ้า แต่มีองศาการเคลื่อนไหวที่น้อยกว่า สามารถเคลื่อนไหวได้เพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น พบได้ในข้อต่อข้อมือ
โรคข้ออักเสบ ข้อจุดไหนก็เกิดได้
โรคข้ออักเสบ (Arthritis) คือ ภาวะที่เกิดความผิดปกติซึ่งเกิดขึ้นตามวัย มักพบว่ามีอาการปวดเมื่อย บวม และเจ็บตามบริเวณข้อต่างๆ ซึ่งโรคข้อต่อที่มักพบอาการบาดเจ็บได้บ่อย ได้แก่ โรคข้อเสื่อม โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ เป็นต้น ซึ่งโรคข้ออักเสบแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
1.โรคข้อต่อแบบเฉียบพลันข้อเดียว มักเป็นอาการที่บ่งบอกให้ผู้ป่วยทราบว่าตนเองอาจกำลังมีอาการป่วยด้วยโรคข้ออักเสบติดเชื้อ หรือข้ออักเสบจากการใช้งานมากเกินไป โรคเก๊าท์ เส้นเอ็นหรือผิวหนังติดข้ออักเสบ
2.โรคข้ออักเสบแบบเฉียบพลันหลายข้อ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสบางชนิด
3.โรคข้ออักเสบชนิดเรื้อรังจากรูมาตอยด์ เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เก๊าท์เทียม เชื้อแบคทีเรีย หรือเกิดจากมะเร็งบางชนิด บางกรณีอาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE) เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบ
โรคข้ออักเสบสามารถสังเกตอาการได้ทั้งจากตาเปล่า การซักประวัติ รวมถึงตรวจด้วยวิทยาการทางการแพทย์ เพื่อจำแนกภาวะของโรคว่าเป็นโรคข้ออักเสบแบบใด และตรวจดูการเคลื่อนไหวว่าติดขัดในระดับใดได้อีกด้วย
1. การตรวจด้วยการทอดสอบทางห้องปฏิบัติการ เช่นการนำตัวอย่างของเหลวในร่างกาย เช่น น้ำไขข้อ ไปตรวจทอดสอบเพื่อจำแนกประเภทของโรค
2. การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือภาพถ่ายเอกซเรย์ เพื่อตรวจดูรูปร่างของข้อต่อ มวลกระดูก รวมถึงเพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นๆ เพิ่มเติมสำหรับประกอบการวางแผนและประเมินระดับอาการเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง:
“ข้อต่อ” (2567)
http://www.digitalschool.club/digitalschool/health4-6/health6_1/b5/item4.php
โรงเรียนปทุมวิไล จ.ปทุมธานี “ระบบโครงกระดูกและกล้ามเนื้อ” (2567)
https://www.pw.ac.th/bodysystem/ske/page/p5.html
โรงพยาบาลสมิติเวช “รู้ทันโรคข้ออักเสบ สาเหตุ อาการ พร้อมวิธีรักษาช่วยแก้ปวดตามข้อ” (26 มีนาคม 2567)
https://samitivejchinatown.com/th/article/bone-osteoarthritis/arthritis
The Neutral “ชนิดของข้อต่อ” (15 พฤษภำคม 2564)
http://theneutralyoga.com