โรคข้อเสื่อม กับ โรคกระดูกพรุน ต่างกันอย่างไร ?

โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis)
เกิดขึ้นได้ทุกข้อต่อในร่างกาย แต่มักพบได้มากบริเวณข้อขนาดใหญ่และข้อที่รองรับน้ำหนักตัว ส่วนใหญ่ของร่างกายมนุษย์ ในปัจจุบันพบคนไทยป่วยด้วยโรคข้อเสื่อมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสาเหตุมักเกิดจากการที่ข้อต่อต้องเคลื่อนไหวและรับน้ำหนักสะสมเป็นเวลานาน หรือเคยเกิดอาการบาดเจ็บบริเวณ ข้อต่อ ทำให้เกิดการสึกหรอของผิวกระดูกบริเวณข้อต่อ ส่งผลให้การเคลื่อนไหวตามข้อพับ-ข้อต่อติดขัด ไม่คล่องแคล่วเช่นเดิม
สาเหตุของการเกิดโรคข้อเสื่อม
1. อายุ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากการใช้งานข้อเป็นระยะเวลานาน จึงสามารถพบอาการข้อเสื่อมได้มากในผู้สูงอายุ
2. มีการใช้งานข้อต่ออย่างหนัก เช่น การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การยกของหนัก เป็นต้น
3. ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือ โรคอ้วน ส่งผลให้ข้อต่อต้องรับน้ำหนักร่างกายมากกว่าปกติ เช่น ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า เป็นต้น
3. โรคที่เกี่ยวข้องกับข้อต่อกระดูก เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ เป็นต้น
4. คนในครอบครัวมีประวัติป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูกและข้อ
อาการของโรคข้อเสื่อม
1. ปวดบริเวณข้อต่อ
2. มีอาการบวมแดง รู้สึกร้อนบริเวณข้อต่อ
3. รู้สึกติดขัดบริเวณข้อขณะขยับ หรือข้อยึด เช่น หัวไหล่ ข้อศอก
4. มีเสียงจากการเสียดสีของผิวบริเวณข้อต่อ
5. มีอาการชาหรือเสียวขณะข้อต่อเสียดสีกัน จากการกดทับเส้นประสาทบริเวณผิวข้อต่อ
โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
คือภาวะที่เนื้อกระดูกบางลง มีรูพรุนในกระดูกมากขึ้น ทำให้มวลเนื้อกระดูกลดลง ส่งผลให้กระดูกมีความเปราะ แตกหักได้ง่ายขึ้น สามารถเกิดได้ในกระดูกทุกส่วนของร่างกาย
สาเหตุของการเกิดโรคกระดูกพรุน
1. อายุ โดยมวลกระดูกของมนุษย์จะมีมวลหนาแน่นที่สุดในช่วงอายุประมาณ 30 ปี และลดลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้นจากการสึกหรอของร่างกาย ส่งผลให้กระดูกเปราะบางลง แตกหักง่ายขึ้น
2. เพศหญิง สามารถพบอาการของโรคกระดูกพรุนได้มากกว่าเพศชาย เนื่องจากการลดลง ของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เนื่องจากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน แต่ก็สามารถพบโรค ในเพศชายได้เช่นกันจากการที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ลดลง
3. ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคมะเร็งกระดูก โรคแพ้ภูมิตัวเอง เป็นต้น
4. ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โดยเฉพาะแคลเซียม ซึ่งถือเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างมวลกระดูก
5. ความผิดปกติจากการทำงานของอวัยวะ เช่น ตับ ไต หรือ ต่อม เช่น ต่อมไทรรอยด์ ต่อม พาราไทรอยด์ และ ต่อมหมวกไต
6. คนในครอบครัวมีประวัติเคยป่วยด้วยโรคกระดูกพรุน
7. ปัจจัยอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การขาดการออกกำลังกาย การทานยาบางชนิด ที่ส่งผลให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมได้ลดลง เป็นต้น
อาการของโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนโดยส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยส่วนมากมักทราบว่าตนกำลังป่วยด้วยโรคนี้จากการเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลให้กระดูกหักและตรวจพบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนในที่สุด โดยลักษณะ ของอาการจะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่เกิดโรค
1. ปวดหลัง สาเหตุจากภาวะกระดูกสันหลังยุบ
2. หลังค่อม ส่วนสูงลดลง
3. กระดูกหักได้ง่ายแม้เกิดการกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อย เช่น ไอจาม ล้มเบาๆ เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคข้อเสื่อมและโรคกระดูกพรุน
โรคข้อเสื่อมและโรคกระดูกพรุนมีวิธีการวินิจฉัยที่คล้ายคลึงกัน เนื่องจากเป็นการตรวจในส่วนกระดูกเช่นเดียวกัน โดยปกติจะมีวิธีการวินิจฉัยโรคดังนี้
1. การซักประวัติของผู้ป่วย ลักษณะอาการ และสังเกตอาการ
2. การตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยดูจากกลักษณะการเดิน กดจุดที่แสดงอาการบวมแดง ตรวจการรับรู้ทางการสัมผัสเพื่อตรวจอาการชา ตรวจกำลังของกล้ามเนื้อในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีอาการกดทับเส้นประสาทร่วมด้วยเพื่อหาความผิดปกติ
3. การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อดูรูปร่างกระดูก มวลกระดูก ว่ามีความผิดปกติอย่างไร เพื่อนำมาสำหรับวางแผนในการรักษาต่อไป
และในโรคกระดูกพรุนจะมีการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone Mineral Density : BMD) ร่วมด้วย โดยกระดูกของมนุษย์ปกติจะมีค่ามากกว่า -1.0 ผู้ที่มีภาวะกระดูกบางจะมีค่า BMD ระหว่าง -1.0 ถึง -2.5 และผู้ที่ป่วยด้วยโรคกระดูกพรุนจะมีค่า BMD น้อยกว่า -2.5
ข้อมูลอ้างอิง:
โรงพยาบาลเพชรเวช, “โรคข้อเสื่อม เมื่อกระดูกอ่อนผุกร่อน รักษาได้แต่ไม่หายขาด” (8 ตุลาคม 2565).
https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Osteoarthritis-When-Cartilage-wears-out-can-be-Treated-but-not-Completely
นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์, Bangkok International Hospital, “กระดูกพรุน รู้ให้ไวป้องกันกระดูกหัก” (2567)
https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/disease-treatment/know-osteoporosis-to-prevent-fractures
นพ.กอบศักดิ์ อุดมเดช, โรงพยาบาลพญาไท, “กระดูกพรุน โรคนี้ไม่ควรมองข้าม” (23 มิถุนายน2565).
https://www.phyathai.com/th/article/3881-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%99_%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A1
นพ.เทวินทร์ ชวนะปราณี, โรงพยาบาลเปาโล, “รู้ทัน ป้องกันโรคข้อเสื่อม และโรคกระดูกพรุน” (14 มิถุนายน 2566).
https://www.paolohospital.com/th-th/center/Article/Details/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%99-%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%99