โรคมะเร็งกระดูก

โรคมะเร็งกระดูก (Bone Cancer หรือ Malignant Bone Tumor) มักพบในเด็กโต วัยรุ่น และ วัยหนุ่มสาว ช่วงประมาณอายุ 10 – 20 ปี แต่อาจพบในช่วงอายุอื่นๆ ได้บ้างทั้งในเด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งโรคมะเร็งกระดูกมักไม่มีสัญญาณเตือนให้รู้ล่วงหน้าและพบได้เพียง 6% ของโรคมะเร็งในเด็กทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ (Primary Bone Cancer หรือ Primary Bone Tumor) เกิดจากความปกติภายในเซลล์ของเนื้อเยื่อกระดูก มักจะพบตามข้อ เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อไหล่ เป็นต้น
2. โรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ (Secondary Bone Cancer หรือ Secondary Bone Tumor) เกิดจากเซลล์มะเร็งที่เกิดจากอวัยวะส่วนอื่นแพร่กระจายมายังกระดูก ซึ่งมักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีประวัติ เป็นโรคมะเร็งอยู่ก่อนแล้ว เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไต เป็นต้น
การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปที่กระดูก
เซลล์มะเร็งจากอวัยวะอื่นสามารถแพร่กระจายมายังกระดูกได้ โดยจะเรียกโรคมะเร็งกระดูกชนิดนี้ว่า “ชนิดทุติยภูมิ” โดยส่วนมากมักมาจากมะเร็งเต้านม ปอด ต่อมลูกหมาก ไต ผิวหนังเมลาโนมา รังไข่ และไทรอยด์ เป็นต้น โดยกระดูกที่มักพบอาการได้มากที่สุด คือ กระดูกสันหลัง แต่ก็สามารถพบอาการ ที่กระดูกบริเวณอื่น เช่น กระดูกส่วนสะโพก กระดูกต้นขา กระดูกต้นแขน กระดูกซี่โครง กะโหลกศีรษะ เป็นต้น
อาการของโรคมะเร็งกระดูก
1. อาการปวด มักเป็นอาการแรกสุดที่สามารถสังเกตได้ ระยะแรกอาจเป็นๆ หายๆ และเริ่มมีอาการหนักขึ้น พบอาการปวดมากช่วงกลางคืนและจะดีขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่หากมีอาการเพิ่มขึ้น เมื่อเคลื่อนไหวร่างกายจะมีอาการแย่ลง และมีโอกาสที่กระดูกจะหักได้ง่ายขึ้น
2. กระดูกหัก จากกระดูกที่บางลง มักเกิดได้ที่กระดูกที่มีความยาว เช่น กระดูกแขน ขา หรือกระดูกสันหลัง
3. มีภาวะการกดทับของไขสันหลัง เมื่อเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูกสันหลัง เซลล์สามารถขยายตัวและกดทับไขสันหลังได้ โดยอาการเบื้องต้นที่พบได้มักพบอาการปวดคล้ายกับมะเร็งกระดูก ในบริเวณอื่น แต่มักมีอาการร่วมด้วยคืออาการชา อ่อนแรงที่แขนหรือขาทั้งสองข้าง และมีอาการไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระได้
4. ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เซลล์มะเร็งส่งผลกระทบให้แคลเซียมสลายตัวออกจากระดูก และปะปนเข้าสู่กระแสเลือดมากยิ่งขึ้น จนเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะแคลเซียมสูงในเลือด โดยสังเกตอาการได้ เช่น ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย ซึมลง กล้ามเนื้ออ่อนแรง สับสน หมดสติ และอาจส่งผลให้ไตวายได้ในที่สุด
5. อาการอื่นๆ ที่สามารถสังเกตได้ เช่น มีก้อนโตขึ้นตามแขน ขา หรือกระดูกมีรูปร่างผิดรูป
สังเกตตนเอง อาการแบบใดเสี่ยงโรคมะเร็งกระดูก?
1. คลำพบก้อน
2. มีประวัติป่วยด้วยโรคมะเร็งชนิดอื่นอยู่แล้วและมีอาการปวดกระดูกร่วมด้วย
3. ปวดกระดูกมากผิดปก แขนขาชา อ่อนแรง
4. น้ำหนักลด อ่อนเพลีย โดยไม่ทราบสาเหตุ
5. ตรวจพบโดยบังเอิญจากการวินิจฉัยหรือตรวจสุขภาพปกติ
นอกจากมะเร็งกระดูกแล้ว อาการดังกล่าวยังสามารถวินิจฉัยโรคกระดูกอื่นๆ ได้ เช่น
1. ภาวะติดเชื้อในกระดูก หรือกระดูกเชิงกราน แขนขา
2. เนื้องอกในไขสันหลัง
3. เนื้องอกชนิดไม่ร้าย
4. กระดูกสันหลังที่คอหรือเอวเสื่อมตามวัย
5. กระดูกสันหลังหักจากภาวะกระดูกพรุน
6. เนื้องอกชนิดเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
7. เนื้องอกชนิดอื่นๆ เช่น เนื้องอกถุงน้ำ เนื้องอกเส้นประสาท เนื้องอกเส้นเลือด เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคมะเร็งกระดูก
ในเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายในบริเวณที่พบความผิดปกติในเบื้องต้นแล้ว จะมีการตรวจคัดกรองเพื่อวินิจฉัยอาการของโรคดังนี้
1. การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
2. การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
3. การตรวจด้วยภาพถ่ายเอกซเรย์ (Plain X-rays)
4. การสแกนกระดูก (Bone Scan) หรือ PET/CT Scan
5. การตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy)
ข้อมูลอ้างอิง:
สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, “การแพร่กระจายของมะเร็งไปที่กระดูก” (1 พฤษภาคม 2566).
https://www.chulacancer.net/patient-knowledge-view.php?id=594
นพ.สุทธิพัฒน์ ไพโรจน์บริบูรณ์, โรงพยาบาลพญาไท, “โรคมะเร็งกระดูกสันหลัง วินิจฉัยเร็ว รักษาถูกวิธี ย่อมดีกับผู้ป่วย” (15 กรกฎาคม 2565)
https://www.phyathai.com/th/article/3891-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1