อวัยวะภายในช่องท้องส่วนบน (Upper Abdomen)

ช่องท้องส่วนบน (Upper Abdomen)

ช่องท้องส่วนบนถือเป็นตำแหน่งที่เต็มไปด้วยอวัยวะที่มีความสำคัญต่อระบบต่างๆ ในร่างกายเป็นอย่างมาก โดยส่วนมากมักเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร รวมถึงระบบขับถ่ายของเสีย ประกอบด้วย ตับ ตับอ่อน ม้าม ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ไต และหลอดเลือดแดงใหญ่ ซึ่งปกติแล้วอาการผิดปกติในบริเวณช่องท้องมักจะไม่ได้แสดงชัดเจน ส่วนใหญ่จะทราบว่าเป็นโรคแล้วก็ต่อเมื่อเกิดอาการรุนแรงหรืออาการป่วยอยู่ในระยะสุดท้ายแล้ว

การตรวจโรคในช่องท้องส่วนบนเหมาะกับใครบ้าง

โดยปกติแล้ว หากเป็นการตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจหารอยโรคในช่องท้องส่วนบน มักจะรวมอยู่ในรายการการตรวจ เพราะอวัยวะในบริเวณนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ อีกทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เช่น การทานอาหาร การขับถ่าย ภาวะความเครียดที่อาจทำซ้ำต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ยังส่งผลกระทบกับอวัยวะเหล่านั้นโดยตรงได้อีกด้วย

  1. ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
  2. มีอาการปวดท้องเรื้อรัง หรือปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายเรื้อรัง
  3. ในครอบครัวมีประวัติผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือโรคร้ายแรงบริเวณช่องท้องส่วนบน
  4. ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องท้องส่วนบน เช่น ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ทานอาหารที่ผ่านการทอด มีความมัน รสจัด หรือเคยเกิดอาการบาดเจ็บบริเวณช่องท้องส่วนบน เป็นต้น
  5. ผู้ที่ต้องการตรวจเช็คสุขภาพในช่องท้องส่วนบน ทั้งตรวจเพิ่มเติมจากผลการตรวจสุขภาพปกติ และตรวจด้วยการวิธีการตรวจ MRI

อวัยวะในช่องท้องส่วนบนที่ตรวจพบโรคพบได้บ่อย และสามารถตรวจได้ด้วยการตรวจ MRI

  1. ตับ โรคที่พบได้บ่อย คือ ภาวะตับอักเสบ ไขมันพอกตับ เกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อไวรัส พฤติกรรมการบริโภค ผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่มีสารตกค้างและเกิดการสะสมที่ตับ จนทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ไขมันพอกตับ และส่งผลกระทบจนเกิดโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับในที่สุด อาการที่มักสังเกตได้หากเกิดอาการผิดปกติที่ตับ ผู้ป่วยมักมีไข้ ปวดท้องที่ด้านบนขวา ตัวเหลือง อันเกิดมาจากการทำงานผิดปกติของตับ
  2. ตับอ่อน โรคที่พบได้บ่อย คือ ภาวะตับอ่อนอักเสบซึ่งมีทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุหลักก็เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลานาน ทั้งยังมีโอกาสเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนจากนิ่วในถุงน้ำดีได้ด้วยเช่นกัน โดยอาการเริ่มต้นที่สำคัญคือ ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่และใต้ชายโครงขวา หากอาการรุกลามจนถึงระยะเรื้อรัง อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายของเนื้อตับอ่อนรวมถึงกลายเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนได้อีกด้วย
  3. ม้าม เป็นอวัยวะที่เราอาจมองข้าม แต่แท้จริงแล้วมีบทบาทสำคัญไม่แพ้อวัยวะในช่องท้องอื่นๆ มีหน้าที่ในการสร้างภูมิคุ้มกันและกำจัดเชื้อโรคที่เข้ามาในกระแสเลือด กรองเซลล์เม็ดเลือดแดงเก่าหรือผิดปกติออกจากระบบไหลเวียนเลือด โรคที่พบได้ คือ ภาวะม้ามโต สาเหตุก็มักมาจากโรคที่เกิดขึ้นที่ตับ เช่น ตับแข็ง ตับอักเสบ การติดเชื้อ มีภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก เป็นต้น ซึ่งภาวะม้ามโตสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย อาการเริ่มต้นที่สามารถสังเกตได้คือ ปวดท้องด้านซ้าย รู้สึกอิ่มทั้งที่ไม่ได้ทานอาหารหรืออิ่มเร็วกว่าปกติ มีอาการของภาวะโลหิตจาง เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีรอยฟกช้ำตามตัว เลือดออกง่าย
  4. ไตและท่อไต เรามักจะได้ยินอาการป่วยที่เกิดขึ้นในไตอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น โรคไต นิ่วในไตหรือท่อไต เนื้องอกในไต เป็นต้น ซึ่งไตเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เสมือนเครื่องกรองหลักของร่างกายและกรองของเสียออกจากเลือด ดูดสารที่จำเป็นกลับเข้าสู่ร่างกาย ควบคุมสารน้ำและรักษาสมดุลของเกลือแร่
    ในร่างกายให้เป็นไปตามปกติ รวมถึงผลิตฮอร์โมนบางชนิดที่จำเป็นต่อการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง และอีกหลากหลายหน้าที่ ดังนั้นหากเกิดความผิดปกติขึ้นที่ไตก็มักจะส่งผลโดยตรงต่อระบบขับถ่ายและเกิดการอาการทรุดหนักได้อย่างรวดเร็ว
  5. ถุงน้ำดีและท่อน้ำดี ถือเป็นอีกอวัยวะที่มีความสำคัญในระบบทางเดินอาหาร โดยน้ำดีจะทำหน้าที่ละลายไขมันให้แตกตัวออกและสามารถถูกดูดซึมเข้าร่างกายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ แต่เมื่อเกิดภาวะเสียสมดุลของสารในน้ำดี ก็อาจทำให้เกิดการตกตะกอนและกลายเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้ในที่สุด ซึ่งภาวะของโรคสามารถเกิดได้โดยที่ไม่แสดงอาการเลยหรือรู้สึกจุกเสียดบริเวณลิ้นปี่หลังจากมื้ออาหารไปแล้ว 2 – 3 ชั่วโมง และมักเกิดขึ้นหลักจากที่ทานอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันสูง
  6. หลอดเลือดแดงใหญ่ เป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่สำคัญทั้งระบบไหลเวียนเลือด ลำเลียงสารอาหาร ออกซิเจน และทำหน้าที่สำคัญอีกมากมายซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อดำรงชีพของมุนษย์ ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นการเสื่อมสภาพของอวัยวะก็มักจะเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองก็เป็นอื่นหนึ่งสาเหตุของอาการเจ็บป่วยที่อาจเป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งสาเหตุมักเกิดจากความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือด การสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน โดยมักจะพบอาการของโรคในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง และจะพบได้มากในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

 

ข้อมูลอ้างอิง:

            คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล “หลอดเลือดช่องท้องโป่งพอง” โรคที่ต้องระวัง (8 ตุลาคม 2560)     https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87/

            โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ “ปวดท้องแบบไหน เสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี” (22 ธันวาคม 2564)

            https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/gallstones

            โรงพยาบาลกรุงเทพ หัวหิน “ทำความรู้จักไต เพื่อสุขภาพไตที่ดีกว่า” (2567)

            https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/gallstones

            hdblog HDmall “ภาวะม้ามโต อันตรายกว่าที่คิด รู้จักสาเหตุ อาการ การรักษา และการป้องกัน” (26 กรกฎาคม 2567)

            https://hdmall.co.th/blog/health/splenomegaly-disease-disease-definition/

            โรงพยาบาลกรุงเทพ “สำรวจโรคตับอ่อนก่อนสาย” (2567)

            https://www.bangkokhospital.com/content/survey-for-pancreatic-disease-before-late?srsltid=AfmBOoorRDy-RpI_k27ou_DBVgwFOqdQ30bduFtKEdslKT0wbbfFhbRm