โรคปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ

โรคปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ “เดอกาแวง (De Quervain’s Stenosing Tenosynovitis)” เกิดจากภาวะอักเสบเรื้อรังของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณข้อนิ้วหัวแม่มือ โดยปกติแล้วเส้นเอ็นข้อนิ้วหัวแม่มือจะเคลื่อนไหวได้เนื้อเยื่อที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์ หรือ เรียกว่า ปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ (Sheath) แต่หากเกิดการอักเสบแล้วจะมีการบวม และส่งผลให้เส้นเอ็นไม่สามารถเคลื่อนไหวภายในปลอกหุ้มเอ็นได้ตามปกติ
อาการของโรคปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ
1. มีอาการปวดข้อมือด้านเดียวกับนิ้วหัวแม่มือ สามารถเกิดได้ทั้งแบบฉับพลันหรือค่อยๆ มีอาการจนกลายเป็นเรื้อรัง
2. ปวดตามแนวนิ้วหัวแม่หรือจากข้อมือร้าวลงมายังแขน
3. ข้อบริเวณนิ้วหัวแม่มือมีอาการบวม แดง ร้อน เมื่อสัมผัส
4. เจ็บหรือเสียวนิ้วหัวแม่มือเมื่อมีการเคลื่อนไหว
5. รู้สึกปวดนิ้วหัวแม่มือหรือข้อมือเวลาหยิบจับสิ่งของ
6. มีอาการชาที่ปลายนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ
1. ผู้ที่ใช้งานนิ้วหัวแม่มือและข้อมือหนักเป็นประจำ บุคคลที่ต้องจับสิ่งของท่าเดิมเป็นเวลานาน เช่น เม้าส์คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
2. สตรีที่ต้องอุ้มทารกหรือให้นมบุตรเป็นประจำ
3. สตรีมีครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนมีผลต่ออาการเอ็นข้อมืออักเสบ
4. นักกีฬาที่ต้องใช้ข้อมือหรือถืออุปกรณ์กีฬา เช่น แบดมินตัน ปิงปอง วอลเลย์บอล กอล์ฟ เป็นต้น
5. ปัจจัยอื่นๆ เช่น เพศโดยโรคนี้มักพบมากในเพศหญิง รวมถึงผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นต้น
6. ผู้ที่ป่วยด้วยโรคประจำตัวที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดอาการอักเสบที่ข้อนิ้ว เช่น โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์ (Rheumatoid) โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบเรื้อรัง หรือผู้ที่เคยรับการผ่านตัดที่บริเวณข้อนิ้ว และเกิดพังผืด เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ
โดยปกติแล้วผู้ที่มีอาการอักเสบ หากเข้าพบแพทย์แล้ว แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการประเมินจากลักษณะอาการภายนอก รวมถึงการแตะเพื่อบริเวณข้อมือหรือนิ้วหัวแม่มือเพื่อตรวจอาการบวม ซึ่งหากมีอาการไม่มากมักจะรักษาตามอาการรวมถึงให้คำแนะนำในการหลีกเลี่ยงกิจกรรมเพื่อลดอาการอักเสบ แต่ทั้งนี้โรคดังกล่าวหากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่ามีแนวโน้มที่อาการอักเสบจะรุนแรงขึ้น ก็สามารถวินิฉัยเพิ่มเติมโดยการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือรังสีเอกซเรย์ (X-Ray) ได้เช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง:
โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ, “เอ็นข้อมืออักเสบ เจ็บได้ หายได้ ถ้าดูแลรักษาให้ถูกวิธี” (12 พฤษภาคม 2564).
https://kdmshospital.com/article/de-quervains-tenosynovitis/
Premiere Home Health Care, “โรคปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s Disease)” (2568).
https://premierehomehealthcare.co.th/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD/#
โรงพยาบาลสมิติเวช, “เอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’’’’s Tenosynovitis) สาเหตุ อาการ วิธีรักษา” (26 มีนาคม 2567).
https://samitivejchinatown.com/th/article/bone-osteoarthritis/de-quervains-tenosynovitis