โรคมะเร็งกระดูก

โรคมะเร็งกระดูก (Bone Cancer หรือ Malignant Bone Tumor) มักพบในเด็กโต วัยรุ่น และ วัยหนุ่มสาว ช่วงประมาณอายุ 10 – 20 ปี แต่อาจพบในช่วงอายุอื่นๆ ได้บ้างทั้งในเด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งโรคมะเร็งกระดูกมักไม่มีสัญญาณเตือนให้รู้ล่วงหน้าและพบได้เพียง 6% ของโรคมะเร็งในเด็กทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
1. โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ (Primary Bone Cancer หรือ Primary Bone Tumor) เกิดจากความปกติภายในเซลล์ของเนื้อเยื่อกระดูก มักจะพบตามข้อ เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อไหล่ เป็นต้น ซึ่งมะเร็งชนิดนี้พบได้น้อย จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบการอุบัติของโรคประมาณ 0.8 คนต่อประชากร 1 แสนราย
2. โรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ (Secondary Bone Cancer หรือ Secondary Bone Tumor) เกิดจากเซลล์มะเร็งที่เกิดจากอวัยวะส่วนอื่นแพร่กระจายมายังกระดูก ซึ่งมักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีประวัติ เป็นโรคมะเร็งอยู่ก่อนแล้ว เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไต เป็นต้น

สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งกระดูก
ปัจจุบันสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งกระดูกยังคงไม่ทราบแน่ชัด หากแต่มีหลักฐานจากการวิจัยพบว่าปัจจัยเหล่านี้อาจก่อให้เกิดโรคดังกล่าวขึ้นได้ เช่น
1. ความผิดปกติของยีน (Gene) ในร่างกาย
2. การกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมี ยาฆ่าแมลง สารรังสี เป็นต้น มักเกิดกับผู้ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับสารเคมี หรือสารรังสีเป็นประจำ ซึ่งมีโอกาสกระตุ้นการเกิดของเซลล์มะเร็งมากกว่าคนทั่วไป
3. ผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น การให้เคมีบำบัด การให้รังสีรักษา เหล่านี้มีโอกาสกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้ง่ายยิ่งขึ้น
4. เป็นผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว

อาการของโรคมะเร็งกระดูก
แม้โอกาสพบผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งกระดูกจะอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก แต่หากเกิดขึ้นแล้วมักจะเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว โดยสามารถสังเกตอาการของโรคได้ดังนี้
1. ปวดกระดูก ปวดข้อเป็นเวลานานผิดปกติ
2. มักเกิดอาการปวดในเวลากลางคืน
3. อาการปวดเรื้อรัง ไม่สามารถหาสาเหตุการเกิดได้
4. พบก้อนนูน เกิดการบิดเบี้ยวผิดรูปของกระดูก
5. กระดูกเปราะ แตก หักง่าย โดยไม่มีสาเหตุอันควร
6. เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการเบื่ออาหาร และน้ำหนักลดได้

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งกระดูก
ในเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายในบริเวณที่พบความผิดปกติในเบื้องต้นแล้ว จะมีการตรวจคัดกรองเพื่อวินิจฉัยอาการของโรคดังนี้
1. การตรวจชิ้นเนื้อ โดยเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจทางแล็ปเพื่อวินิจฉัยและบอกระยะของโรค สำหรับใช้ในการวางแผนการรักษาให้เหมาะสม โดยมีวิธีการดังนี้
– การเจาะตรวจเนื้อเยื่อ โดยแพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะลงไปที่ก้อนมะเร็งและเก็บเนื้อเยื่อชิ้นเล็กๆ ออกมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศ
– การตัดชิ้นเนื้อ แพทย์จะผ่าเปิดผิวหนังและผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อก้อนมะเร็งทั้งก้อนหรือเฉพาะส่วนออกมาเพื่อไปตรวจมะเร็งกระดูก
2. การตรวจมวลกระดูกเพื่อดูตำแหน่งที่ปวดโดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สามารถบอกขนาด ที่แท้จริงของมะเร็งได้ รวมถึงใช้ในการวางแผนในการผ่าตัดรักษาได้อีกด้วย
3. การตรวจโดยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ปอด ซึ่งมักจะทำเมื่อพบว่ามะเร็งลุกลามไปยังที่ 2 อวัยวะหลัก คือ ปอด และกระดูกชิ้นอื่นๆ รวมถึงการทำ Bone Scan เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็ง ซึ่งการทำ Bone Scan จะสามารถทำได้บางจุดและการแปรผลต้องอาศัยความชำนาญเป็นอย่างยิ่ง