โรคมะเร็งสมอง

โรคมะเร็งสมอง (Brain Cancer) เกิดจากเนื้อร้ายหรือเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณสมองและเติบโตอย่างรวดเร็ว อาจเกิดจากเนื้อเยื่อของสมองเองหรือการลุกลามของเซลล์มะเร็งจากอวัยวะอื่น ซึ่งโดยปกติแล้วโรคมะเร็งสมองพบได้ค่อนข้างยากเมื่อเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่น โดยมีโอกาสพบผู้ป่วยเพียง 1%
ของประชากรโลกที่ตรวจพบภาวะโรคมะเร็งสมอง ปัจจุบันโรคมะเร็งสมองแบ่งได้ 2 ชนิดดังนี้

  1. มะเร็งสมองแบบปฐมภูมิ (Primary Brain Cancer) คือ ภาวะที่มีเนื้องอกหรือเซลล์ที่เจริญเติบโตผิดปกติ โดยต้นกำเนิดมาจากในเนื้อสมองเอง โดยเนื้องอกชนิดนี้มักไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ
    อยู่แต่ภายในสมองหรือไขสันหลัง พบได้ค่อนข้างน้อยมาก แต่มีความรุนแรงมาก
  2. มะเร็งสมองทุติยภูมิ (Secondary Brain Cancer) หรือมะเร็งแพร่กระจาย (Metastasized Brain Cancer) เกิดจากการที่มะเร็งในส่วนอื่นของร่างกายแพร่กระจายไปยังสมอง ซึ่งพบได้บ่อยกว่ามะเร็งสมองแบบปฐมภูมิ เช่น มะเร็งเต้านมกระจายมาที่สมอง หรือมะเร็งปอดกระจายมาที่สมอง ความรุนแรงจะขึ้นกับชนิดของมะเร็งต้นกำเนิด

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งสมอง

โรคมะเร็งสมองเป็นเนื้องอกอันตรายที่มีการเจริญเติบโตของเซลล์ในลักษณะที่ผิดปกติ หรือเกิดจากการแพร่กระจายมาจากมะเร็งที่เกิดขึ้นในอวัยวะอื่น เนื้องอกที่มีเซลล์มะเร็งจะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังสามารถแพร่กระจายและทำลายเนื้อเยื่อดีในบริเวณข้างเคียง จึงทำให้แม้จะเคยผ่านการรักษาแล้วก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งซ้ำในอวัยวะเดิมหรือจุดอื่นๆ อีกได้

  1. ผู้สูงอายุ
  2. สูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  3. ครอบครัวเคยมีประวัติผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งสมอง
  4. มีการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)
  5. เกิดจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งจากอวัยวะอื่นๆ ที่สามารถแพร่กระจายมายังสมองได้ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา เป็นต้น
  6. ได้รับหรือสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสีหรือสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น ยากำจัดศัตรูพืช เป็นต้น
  7. เกี่ยวข้องหรือปฏิบัติงานกับสารโลหะหนักจำพวกสารตะกั่ว พลาสติก ยาง น้ำมัน เป็นระยะเวลานาน

อาการของโรคมะเร็งสมอง

  1. ปวดศีรษะ โดยมักจะมีอาการรุนแรงในช่วงเช้า
  2. คลื่นไส้ อาเจียน
  3. เป็นลมหมดสติ
  4. อ่อนแรงและชาบริเวณแขนขา
  5. กล้ามเนื้อกระตุก
  6. มีปัญหาซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทรงตัว การพูด การมองเห็น รวมถึงอาจส่งผลถึงการจดจำ ภาวะทางอารมณ์ สติปัญญา รวมถึงสูญเสียความทรงจำได้

หรือหากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรคโดยด่วน

  1. อาเจียนบ่อยและไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
  2. มองเห็นภาพซ้อน ภาพที่เห็นไม่ชัดเจน โดยเฉพาะตาข้างใดข้างหนึ่ง
  3. ง่วงซึม หรือง่วงนอนอย่างผิดปกติ
  4. มีอาการปวดศีรษะอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคมะเร็งสมอง

  1. เนื้องอกมีเลือดออกเฉียบพลัน
  2. เกิดการอุดตันของน้ำในไขสันหลัง ทำให้เกิดภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
  3. ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้นกะทันหันจากการเคลื่อนของสมอง

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งสมอง

โรคมะเร็งสมองสามารถวินิจฉัยได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งมีแนวทางการวินิจฉัยดังนี้

  1. การตรวจร่างกายทางระบบประสาท (Neurological Examination) เพื่อหาผลกระทบของเนื้อร้ายที่มีต่อสมอง
  2. การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) โดยการเก็บตัวอย่างของเหลวบริเวณรอบ ๆ สมองและไขสันหลัง เพื่อตรวจเซลล์มะเร็ง
  3. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือ
    การตรวจความเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีหรือ PET Scan เพื่อหาตำแหน่งของเนื้อร้าย
  4. การตัดชิ้นเนื้อตรวจ (Biopsy) สามารถทำได้ด้วยกัน 2 วิธีคือ การผ่าตัดเปิดกระโหลกเพื่อกำจัดเนื้อร้ายในสมอง และการผ่าตัดด้วยระบบนำวิถี (Stereotaxic) ทำได้โดยการหาตำแหน่งที่ชัดเจน จากนั้นทำการเจาะรูเล็กที่กระโหลกแล้วใช้เข็มสอดเข้าไปเก็บตัวอย่างเนื้องอก แล้วส่งให้นักพยาธิวิทยาตรวจสอบหาเซลล์มะเร็งต่อไป