โรคข้อเข่าเสื่อม อายุน้อยก็เป็นได้

โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากกระดูกอ่อนผิวข้อเกิดการเสื่อมสภาพ ทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้าง
การทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมและอาจมีความเสื่อมรุนแรงขึ้นตามลำดับ โดยปกติพบได้มากในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเกิดจากการใช้งาน
ข้อเข่ามาเป็นระยะเวลานาน แต่ในปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในกลุ่มคนอายุน้อยลงมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มวัยกลางคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยอื่นๆ ที่นอกเหนือจากอายุ เช่น น้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน การใช้งานข้อเข่ามากเกินไป หรือใช้งานผิดท่าจนเกิดอาการบาดเจ็บ

สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. อายุ โดยจะพบว่าเริ่มมีอาการของโรคในกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป อายุ 55 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีอาการปวดเข่า เข่าเสื่อม และอายุ 60 ปี จะเป็นข้อเข่าเสื่อมได้ถึงร้อยละ 40
  2. เพศ จากสถิติโรคข้อเข่าเสื่อมพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายสูง 2-3 เท่า เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นตัวป้องกันความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่าผลิตได้น้อยลงหรือขาดฮอร์โมนดังกล่าว โดยเฉพาะในภาวะหมดประจำเดือนยิ่งทำให้เพศหญิงเกิดข้อเข้าเสื่อมได้ง่ายกว่าปกติ
  3. ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือผู้ป่วยโรคอ้วน จะยิ่งเพิ่มโอกาสการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น
  4. การใช้งานข้อเข่ามากเกินไป หรือใช้งานผิดท่า การใช้ขาและหัวเข่าผิดท่า หรืออยู่ในท่า
    ที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น ในกลุ่มผู้ที่ต้องยืนนานๆ หรือยกของหนัก ขึ้นลงบันไดบ่อยๆ การก้มยกของ รวมถึงท่าทางจากกิจกรรมที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามากๆ เช่น คุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ เป็นต้น
  5. กรรมพันธุ์ จากการศึกษาพบว่า คนไข้ที่มีคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
    มีโอกาสที่จะเป็นข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น
  6. ความบกพร่องของส่วนประกอบของข้อ เช่น ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง
  7. การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อข้อเข่าโดยตรง
  8. เกิดจากโรคข้ออักเสบชนิดอื่น ๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกาต์ เป็นต้น

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. เริ่มมีอาการปวดข้อเข่า
  2. ข้อเข่ามีเสียงขณะเคลื่อนไหว ซึ่งอาจมีอาการปวด และรู้สึกเสียวบริเวณเข่าร่วมด้วย
  3. ข้อเข่าติด ฝืด ตึง แข็ง
  4. มีอาการข้อเข่าบวม ร้อน กดแล้วรู้สึกเจ็บ
  5. ข้อเข่าโก่งงอ ต้นขาลีบ ข้อเข่าผิดรูป โดยสังเกตได้จากกระดูกบริเวณรอบๆ อาจจะโก่งด้านนอกหรือโก่งด้านใน ต้นขาลีบ บิดเบี้ยวผิดรูป ทำให้ขาสั้นลง ทำให้เดินหรือใช้ชีวิตประจำวันลำบาก และมีอาการปวดเวลาเดินหรือขยับ

แนวทางการวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. การตรวจเอกซเรย์ เพื่อหาช่องว่างระหว่างกระดูกในข้อเข่าของผู้ป่วยว่ามีช่องว่างเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด รวมไปถึงการตรวจหาปุ่มกระดูกที่อาจเกิดขึ้นบริเวณรอบๆ ข้อเข่าได้ โดยปกติแล้ว แพทย์จะใช้การตรวจเอกซเรย์เป็นมาตรฐาน แต่อาจมีการสั่งให้ทำ MRI เพิ่มเติม ในกรณีที่ต้องการภาพของกระดูก เนื้อเยื่อ และกระดูกอ่อนรอบข้อเข่าที่ชัดขึ้น เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ออกไป
  2. การเจาะเลือดหรือน้ำในไขข้อ ที่จะช่วยทดสอบและแยกแยะสาเหตุอื่นๆ ออกจากโรคข้อเข่าเสื่อม เช่น โรครูมาตอยด์ เป็นต้น

การดูแลข้อเข่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. ควบคุมน้ำหนักตัว เพราะเมื่อข้อเข่ารองรับน้ำหนักมากก็มีโอกาสข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
  2. อย่าใช้งานข้อเข่าหนักเกินไป เช่น การยกของหนัก การนั่งยองๆ ขัดสมาธิ คุกเข่า พับเพียบนานๆ หรือบ่อยครั้ง หัวเข่าจะได้รับแรงกดทับสูงกว่าปกติ ทำให้มีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อมได้มากขึ้น
  3. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่เสี่ยงให้เกิดการเสื่อมหรืออุบัติเหตุกับข้อเข่า
  4. หมั่นบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรง เพื่อช่วยลดภาระของข้อเข่า