โรคลืมใบหน้า (Prosopagnosia) คืออะไร?

โรคลืมใบหน้า (Prosopagnosia)

“โรคลืมใบหน้า” หรือ “โพรโซแพ็กโนเซีย” (Prosopagnosia) เป็นความผิดปกติทางสมองซึ่งเป็นอาการที่ไม่พบบ่อยนัก มีโอกาสพบได้เพียง 2% จากประชากรโลก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยจะมีภาวะไม่สามารถจดจำใบหน้าบุคคลได้ ซึ่งอาจรวมถึงใบหน้าของสมาชิกในครอบครัว และถ้าหากมีอาการรุนแรง อาจจะไม่สามารถจดจำใบหน้าของตัวเองในกระจกได้อีกด้วย

โรคลืมใบหน้าค้นพบมานานแล้ว คือราว 150 ปีก่อนโดยยังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้มากนัก แต่ภายหลังกลับได้รับความสนใจและมีผู้ศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคนี้มากยิ่งขึ้น จากการเปิดเผยของนักแสดงรุ่นใหญ่ของฮอลลีวูด “แบรด พิตต์” ว่าเขาก็กำลังป่วยเป็นโรคดังกล่าว และการศึกษาทำความเข้าใจก็คงยังเป็นไปอย่างจำกัด แพทย์ยังคงไม่สามรถระบุได้ว่าอะไรคือสาเหตุของโรคดังกล่าว และการวินิจฉัยก็ทำได้ยาก เนื่องจากอาจเกิดความสับสนกับอาการหลงๆ ลืมๆ ทั่วไป

อาการของโรคลืมใบหน้า

อาการที่สามารถสังเกตได้ชัดที่สุด คือ การที่ไม่สามารถจดจำและจำแนกความแตกต่างของใบหน้า การแสดงออกทางสีหน้า อายุหรือเพศของผู้อื่นได้ โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้พบหน้ากันในสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยมาก่อน ในผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาในการจดจำวัตถุ สถานที่ และเส้นทางร่วมด้วย ซึ่งหากเป็นโรคนี้ตั้งแต่วัยเด็ก อาจส่งผลกระทบจนนำไปสู่โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety) เนื่องด้วยผลจากการที่ไม่สามารถจดจำใบหน้าบุคคลรอบตัวได้ จึงทำให้ไม่ยอมอยู่ห่างจากพ่อแม่ในที่สาธารณะ และไม่กล้าที่จะทักทายผู้อื่นก่อน ส่งผลต่อการทำความรู้จักเพื่อนใหม่และไม่อยากไปโรงเรียน รวมถึงการหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

สาเหตุของโรคลืมใบหน้า

โรคลืมใบหน้า ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติในการมองเห็น ความจำ หรือความบกพร่องการเรียนรู้ ผู้ป่วยโรคดังกล่าวยังสามารถมองเห็น จดจำ และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างเป็นปกติ แต่ไม่สามารถบอกหรือจำแนกความแตกต่างของบุคคลจากใบหน้าได้ โดยสันนิษฐานว่าความผิดปกติดังกล่าวเกิดจากความเสียหายของสมองซีกขวาส่วนที่เรียกว่า Fusiform Gyrus ซึ่งมีหน้าที่ในการประมวลผลเกี่ยวกับสี การจดจำใบหน้า-อวัยวะ จดจำคำ และการบ่งชี้วัตถุที่มีประเภทเดียวกัน โดยภาวะโรคลืมใบหน้าจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. ภาวะลืมใบหน้าแต่กำเนิด (Congenital หรือ Developmental Prosopagnosia) สาเหตุที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะนี้ โดยเชื่อกันว่าเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เนื่องจากมักพบคนในครอบครัวมีอาการของภาวะลืมใบหน้าเช่นเดียวกัน โดยผู้ป่วยเด็กอาจไม่ทราบว่าตัวเองมีภาวะนี้จนกว่าจะโตขึ้นและเริ่มเข้าสังคม นอกจากนี้ภาวะลืมใบหน้าแต่กำเนิดอาจพบในเด็กที่เป็นโรคออทิสติก (Autistic) โรคแอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome) กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome) และกลุ่มอาการวิลเลียม (Williams Syndrome) ส่งผลให้เด็กมีความผิดปกติทางร่างกายและพฤติกรรม ซึ่งเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันและการเข้าสังคมยิ่งขึ้น
  2. ภาวะลืมใบหน้าจากการได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง (Acquired Prosopagnosia) ภาวะลืมใบหน้าประเภทนี้อาจเกิดจากการได้รับแรงกระแทกบริเวณศีรษะจากอุบัติเหตุ โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท (Neurodegenerative Diseases) เช่น โรคจิตเภท โรคอัลไซเมอร์ และโรคซึมเศร้า

แนวทางการรักษา

ในปัจจุบันโรคลืมใบหน้ายังไม่มีวิธีการรักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยจดจำคนอื่นด้วยลักษณะเด่นอื่นๆ แทนการจดจำใบหน้า เช่น เสียง ทรงผม เสื้อผ้า ส่วนสูง บุคลิกส่วนตัวอันเป็นลักษณะเด่นของบุคคลนั้นๆ หรือวิธีอื่น เช่น หาจุดเชื่อมโยงระหว่างคนและวัตถุ หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้อง ทำป้ายชื่อหรือรูปภาพในการระบุตัวบุคคล หากผู้ป่วยเป็นโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้าร่วมด้วย อาจได้รับการรักษาโรคเหล่านี้ควบคู่กับการรักษาโรคลืมใบหน้าด้วย

นอกจากนี้ อาจทำการตรวจเช็คการทำงานของดวงตา ตรวจสมองโดยการทำ CT Scan หรือ MRI รวมถึงการทำแบบทดสอบสมรถภาพสมอง เพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ละเอียดยิ่งขึ้นอีกด้วย