โรคตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B Virus)

โรคตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B Virus)

โรคตับอักเสบ (Hepatitis)  คือ ภาวะที่เซลล์ตับเกิดการอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
โดยไวรัสตับอักเสบมีหลายสายพันธุ์ ได้แก่ ชนิดเอ บี ซี ดี และอี ซึ่งไวรัสทุกสายพันธุ์มีความสามารถในการติดต่อและแพร่เชื้อแตกต่างกันไปตามชนิดและลักษณะเฉพาะ หากปล่อยให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจนเซลล์ตับตายกลายเป็นอาการเรื้อรัง อาจก่อให้เกิดพังผืดที่อาจส่งผลให้เกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้  อีกทั้งโรคดังกล่าวยังสามารถพบได้ทั่วไปในประเทศไทย โดยจะเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มีอาการเย็นและความชื้นสูง ส่งผลให้เชื้อโรคสามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วกว่าสภาพอากาศอื่นๆ

สาเหตุการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบบี สามารถติดต่อได้ทางสารคัดหลั่ง เช่น เลือด น้ำเหลือง น้ำลาย เป็นต้น ซึ่งมีโอกาสรับเชื้อได้จากพฤติกรรมดังต่อไปนี้

  1. มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบโดยไม่ได้สวมถุงยาง
  2. ใช้แปรงสีฟัน มีดโกน ที่ตัดเล็บ หรือของใช้ส่วนตัวที่มีการสัมผัสสารคัดหลั่งร่วมกันกับผู้ที่มีเชื้อ
  3. ติดเชื้อขณะคลอดจากแม่ที่มีเชื้อ (ลูกมีโอกาสได้รับเชื้อ 90%)
  4. สัมผัสกับสารคัดหลั่งโดยผ่านเข้าทางบาดแผล
  5. ใช้เข็มร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยา เข็มสัก หรือการเจาะหู

อย่างไรก็ดี เชื้อไวรัสนี้จะไม่ติดต่อกันทางลมหายใจ อาหาร น้ำดื่ม การให้นม และการจูบ (หากไม่มีแผลในปาก)

ขนิดของโรคไวรัสตับอักเสบบี แบ่งได้ 2 ชนิดดังนี้

  1. ชนิดเฉียบพลัน เมื่อได้รับเชื้อจะมีไข้ ปวดเมื่อตามตัว ตัวเหลือง ตาเหลือง โดยจะดีขึ้นภายใน 2 – 3 สัปดาห์ และร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา หากเคยป่วยแล้วส่วนมากมักจะไม่กลับไปเป็นโรคนี้ซ้ำอีก
  2. ชนิดเรื้อรัง มักได้รับเชื้อไวรัสตั้งแต่เด็กจนเกิดเป็นโรคเรื้อรัง และอาจส่งผลให้กลายเป็นโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับต่อไปได้

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี

  1. อ่อนเพลียคล้ายเป็นหวัด
  2. คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด
  3. จุกแน่นใต้ชายโครงขวาจากภาวะตับโต
  4. ปัสสาวะมีสีเข้ม ตาเหลือง

ภาวะแทรกซ้อนจากการป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบบี

ผู้ป่วยชนิดเรื้อรังมีโอกาสที่จะพัฒนากลายเป็นโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ ดังนี้

  1. ตับแข็ง มีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 25 % โดยตับจะเกิดพังผืดขึ้นส่งผลต่อการทำงานของตับ
  2. ตับวายเฉียบพลัน เป็นภาวะที่ตับหยุดการทำงาน และสามารถส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่มีการปลูกถ่ายตับ
  3. มะเร็งตับ เมื่อมีการพัฒนาเป็นมะเร็งตับสามารถสังเกตอาการของผู้ป่วยได้ คือจะมีน้ำหนักลด ตาเหลืองผิวเหลือง และเบื่ออาหาร
  4. ภาวะที่เกี่ยวกับเลือด เช่น ภาวะโลหิตจาง และการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น

แนวทางวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบบี

  1. เจาะเลือดตรวจค่าการทำงานของตับ (liver function test)
  2. เจาะเลือดตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

– HBsAg (แอนติเจนไวรัสตับอักเสบบี): ให้ผลบวก แปลว่า ผู้ป่วยกำลังมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

– Anti-HBS (ภูมิคุ้มกันต่อ HBsAg): ให้ผลบวก แปลว่า ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยได้รับการฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบและหายจากโรคแล้ว ดังนั้นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันจะไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น และไม่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอีก

– ไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรัง ผู้ป่วยจะต้องเจาะเลือดเพื่อทำการตรวจซ้ำหลังจากเคยถูกวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบบีชนิดฉับพลันแล้วอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป หากพบว่าร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัส และไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ จึงจะถูกวินิจฉัยว่าเป็น “โรคไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรัง”

3. การตัดชิ้นเนื้อจากตับไปตรวจ แพทย์จะใช้เข็มแทงผ่านผิวหนังเพื่อเก็บชิ้นเนื้อจากตับ การตรวจนี้ไม่ได้ทำในผู้ป่วยทุกราย ทำเฉพาะในผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังที่ต้องการติดตามการดำเนินไปของโรค เช่น ต้องการทราบภาวะพังผืดในตับและการอักเสบของเซลล์ตับ ซึ่งจะมีผลในการเริ่มต้นการรักษา หรือสงสัยมะเร็งตับ เป็นต้น