โรคมะเร็งตับ ถือเป็นโรคตระกูลมะเร็งที่พบได้มากที่สุด และเป็นมะเร็งที่มีการเจริญเติบโตของโรครวดเร็วที่สุด และมักเสียชีวิตภายในระยะไม่เกิน 3 – 6 เดือน หากตรวจพบในระยะสุดท้าย
โรคมะเร็งตับพบได้มาก 2 ชนิด คือ
- มะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular Carcinoma) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในเนื้อตับและพบได้มากที่สุด ซึ่งเกิดจากเซลล์ตับที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นเนื้องอกร้าย
- มะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) เป็นเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์บุท่อน้ำดีเจริญเติบโตผิดปกติ สาเหตุมาจากโรคพยาธิใบไม้ในตับ พบได้บ่อยทางภาคอีสาน รวมถึงการรับประทานอาหาร
บางชนิดที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น สารดินประสิวที่มีอยู่ในอาหารประเภทหมัก และอาหารจำพวกรมควัน
เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดจากเซลล์มะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากอวัยวะอื่นในร่างกายและแพร่กระจายมายังตับ มักจะเรียกว่า มะเร็งตับแพร่กระจาย (Metastatic Liver Cancer) ซึ่งต้นตอของเซลล์มะเร็งอาจมาจากอวัยวะใกล้เคียง เช่น ตับอ่อน กระเพาะอาหาร ลำไส้ เต้านม ปอด เป็นต้น
สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งตับ
โรคมะเร็งตับมักเกิดจากโรคตับแข็ง ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น
- การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- โรคตับอักเสบจากไขมันพอกตับ
- โรคเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี
- การได้รับสารบางชนิดเป็นประจำ เช่น อะฟลาท็อกซิน จากเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารแห้งจำพวก ธัญพืช ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หรืออาหารแห้งแปรรูป เช่น กุ้งแห้ง เป็นต้น
- อายุ โดยเพศชายอายุ 40 ปีขึ้นไป และเพศหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงที่จะพบโรคมะเร็งตับได้มากกว่าวัยอื่นๆ
อาการของโรคมะเร็งตับ
- ปวดจุกบริเวณชายโครงขวาหรือช่องท้องช่วงบน
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักตัวลดลง
- ท้องมาน
- ขาบวม
- ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม
- ตาและตัวเหลือง หรือมีภาวะดีซ่าน
การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ
ปัจจุบันแนวทางการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับสามารถทำได้หลายวิธี ร่วมกับการตรวจร่างกายคัดกรองเบื้องต้น ดังนี้
- การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง เพื่อตรวจดูตับ ตับอ่อนว่ามีความผิดปกติหรือไม่ หรือมีก้อนเนื้อที่ผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะใดเพิ่มเติมหรือไม่
- การตรวจเลือดในห้องปฏิบัติการ ได้แก่
– การตรวจหาค่าการทำงานของตับ
– การตรวจหาภูมิ และเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี
– การเจาะเลือดเพื่อดูค่าคัดกรองสารบ่งชี้มะเร็งตับ (Alpha-Fetoprotein Blood : AFP)
- การตรวจโดยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
- การตรวจชิ้นเนื้อบริเวณที่สงสัยว่ามีเซลล์มะเร็งทางพยาธิวิทยา (Biopsy)
- การตรวจด้วยเครื่องไฟโบรสแกน (Fibro Scan) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ประเมินปริมาณไขมัน
ในตับ รวมถึงระดับพังผืด และตับแข็ง
ระยะของโรคมะเร็งตับ โดยแบ่งได้ 5 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 – 2 ก้อนเนื้อมะเร็งยังมีขนาดเล็กประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร ก้อนเนื้อมะเร็งไม่เกิน 3 ก้อน สามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบในระยะนี้
ระยะที่ 3 – 4 ก้อนเนื้อมะเร็งโตมาก และมีโอกาสลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงตับ หรือเข้าหลอดเลือดดำในท้อง หรือไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ตับ หรือแพร่กระจายตามกระแสเลือด ลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น
ระยะที่ 5 ผู้ป่วยอาการทรุด ประสิทธิภาพของตับทำงานได้แย่ลง โอกาสที่รักษาให้หายขาดยากขึ้น