โรคมะเร็งตับ

โรคมะเร็งตับ ถือเป็นโรคตระกูลมะเร็งที่พบได้มากที่สุด และเป็นมะเร็งที่มีการเจริญเติบโตของโรครวดเร็วที่สุด และมักเสียชีวิตภายในระยะไม่เกิน 3 – 6 เดือน หากตรวจพบในระยะสุดท้าย

โรคมะเร็งตับพบได้มาก 2 ชนิด คือ

  1. มะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular Carcinoma) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในเนื้อตับและพบได้มากที่สุด ซึ่งเกิดจากเซลล์ตับที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นเนื้องอกร้าย
  2. มะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) เป็นเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์บุท่อน้ำดีเจริญเติบโตผิดปกติ สาเหตุมาจากโรคพยาธิใบไม้ในตับ พบได้บ่อยทางภาคอีสาน รวมถึงการรับประทานอาหาร
    บางชนิดที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น สารดินประสิวที่มีอยู่ในอาหารประเภทหมัก และอาหารจำพวกรมควัน
    เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดจากเซลล์มะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากอวัยวะอื่นในร่างกายและแพร่กระจายมายังตับ มักจะเรียกว่า มะเร็งตับแพร่กระจาย (Metastatic Liver Cancer) ซึ่งต้นตอของเซลล์มะเร็งอาจมาจากอวัยวะใกล้เคียง เช่น ตับอ่อน กระเพาะอาหาร ลำไส้ เต้านม ปอด เป็นต้น

สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งตับ

โรคมะเร็งตับมักเกิดจากโรคตับแข็ง ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น

  1. การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  2. โรคตับอักเสบจากไขมันพอกตับ
  3. โรคเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี
  4. การได้รับสารบางชนิดเป็นประจำ เช่น อะฟลาท็อกซิน จากเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารแห้งจำพวก ธัญพืช ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หรืออาหารแห้งแปรรูป เช่น กุ้งแห้ง เป็นต้น
  5. อายุ โดยเพศชายอายุ 40 ปีขึ้นไป และเพศหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงที่จะพบโรคมะเร็งตับได้มากกว่าวัยอื่นๆ

อาการของโรคมะเร็งตับ

  1. ปวดจุกบริเวณชายโครงขวาหรือช่องท้องช่วงบน
  2. เบื่ออาหาร
  3. น้ำหนักตัวลดลง
  4. ท้องมาน
  5. ขาบวม
  6. ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม
  7. ตาและตัวเหลือง หรือมีภาวะดีซ่าน

การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ

ปัจจุบันแนวทางการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับสามารถทำได้หลายวิธี ร่วมกับการตรวจร่างกายคัดกรองเบื้องต้น ดังนี้

  1. การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง เพื่อตรวจดูตับ ตับอ่อนว่ามีความผิดปกติหรือไม่ หรือมีก้อนเนื้อที่ผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะใดเพิ่มเติมหรือไม่
  2. การตรวจเลือดในห้องปฏิบัติการ ได้แก่

– การตรวจหาค่าการทำงานของตับ

– การตรวจหาภูมิ และเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี

– การเจาะเลือดเพื่อดูค่าคัดกรองสารบ่งชี้มะเร็งตับ (Alpha-Fetoprotein Blood : AFP)

  1. การตรวจโดยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
  2. การตรวจชิ้นเนื้อบริเวณที่สงสัยว่ามีเซลล์มะเร็งทางพยาธิวิทยา (Biopsy)
  3. การตรวจด้วยเครื่องไฟโบรสแกน (Fibro Scan) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ประเมินปริมาณไขมัน
    ในตับ รวมถึงระดับพังผืด และตับแข็ง

ระยะของโรคมะเร็งตับ โดยแบ่งได้ 5 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 – 2 ก้อนเนื้อมะเร็งยังมีขนาดเล็กประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร ก้อนเนื้อมะเร็งไม่เกิน 3 ก้อน สามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบในระยะนี้

ระยะที่ 3 – 4 ก้อนเนื้อมะเร็งโตมาก และมีโอกาสลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงตับ หรือเข้าหลอดเลือดดำในท้อง หรือไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ตับ หรือแพร่กระจายตามกระแสเลือด ลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น

ระยะที่ 5 ผู้ป่วยอาการทรุด ประสิทธิภาพของตับทำงานได้แย่ลง โอกาสที่รักษาให้หายขาดยากขึ้น