โรคไส้เลื่อน ไม่ใช่แค่คุณผู้ชายต้องระวัง คุณผู้หญิงก็เสี่ยงเป็นได้

โรคไส้เลื่อน

โรคไส้เลื่อน (Hernia) คือ ภาวะที่ลำไส้เกิดการเคลื่อนตัวจากจุดเดิม เนื่องจากผนังช่องท้องไม่แข็งแรงซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้หลายจุด เช่น ขาหนีบ สะดือ กระบังลม เป็นต้น หรือจากปัจจัยอื่น เช่น รอยแผลจากการผ่าตัด เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยมักรู้สึกได้ถึงก้อนนูนและมีอาการปวดเวลาต้องก้มตัว ยกของ หรืองอตัว

สาเหตุของโรคไส้เลื่อน

สาเหตุหลักของการเกิดโรคไส้เลื่อนมักเกิดจากผนังช่องท้องไม่แข็งแรงหรือมีรูเปิดผิดปกติ ได้แก่ แรงดันภายในช่องท้องที่เพิ่มขึ้น ทำให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม นอกจากนี้ยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีก ดังนี้

  1. ไอเรื้อรัง เช่น การไอของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง
  2. โรคอ้วน และภาวะน้ำหนักเกิน
  3. การตั้งครรภ์
  4. การยกของหนักเป็นประจำ
  5. การเบ่งอุจจาระเป็นประจำเนื่องจากท้องผูก
  6. ต่อมลูกหมากโต ทำให้ต้องเบ่งเมื่อปัสสาวะ
  7. มีของเหลวในช่องท้อง เช่น เกิดจากการที่ตับมีปัญหา

อาการของโรคไส้เลื่อน

โดยปกติอาการโดยทั่วไปของโรคไส้เลื่อนมักคลำพบก้อนนูนในบริเวณที่เกิดโรค ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแน่นท้องร่วมด้วย ซึ่งโรคไส้เลื่อนสามารถเกิดได้หลายตำแหน่ง เช่นหากเกิดไส้เลื่อนบริเวณ
ขาหนีบ มักมีก้อนนูนด้านใดด้านหนึ่งของกระดูกเชิงกรานหรือขาหนีบ โดยสังเกตอาการได้ดังนี้

  1. ปวดบริเวณก้อนนูนหรือกิจกรรมที่มีการขยับกล้ามเนื้อช่วงท้อง หรือบริเวณที่มีอาการ เช่น ก้มตัว หรือไอจาม
  2. มีอาการอัณฑะบวม และปวด

หากเป็นกรณีไส้เลื่อนบริเวณกระบังลม ผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคกรดไหลย้อนร่วมด้วยปวดบริเวณหน้าอก รู้สึกกลืนลำบาก โรคไส้เลื่อนบางชนิดอาจไม่มีก้อนนูนให้เห็น แต่ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องโดยหาสาเหตุไม่ได้ อาจมีอาการอื่นๆ ดังนี้

  1. ปวดเฉพาะเวลาไอจาม หรือยกสิ่งของ
  2. มีอาการท้องผูก
  3. มีเลือดปนในอุจจาระ

นอกจากนี้ หากพบว่าไส้เลื่อนติดไม่สามารถดันกลับเข้าในช่องท่องได้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุโดยด่วน ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดและเน่าตาย (Strangulated Hernia) หรือภาวะลำไส้อุดตัน (Bowel Obstruction) ได้

การวินิจัยโรคไส้เลื่อน

โรคไส้เลื่อน ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดโรค ในกรณีที่เป็นโรคไส้เลื่อนชนิดที่ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดหรือคลำจากภายนอกไม่พบ อาจต้องใช้วิธีตรวจโดยการอัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และ การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ในกรณีของไส้เลื่อนที่เกิดบริเวณช่องท้องและช่องเชิงกราน เป็นต้น

ภาวะไส้เลื่อนที่สะดือในหญิงตั้งครรภ์

ภาวะไส้เลื่อนในหญิงตั้งครรภ์ มักพบได้ในไตรมาสที่ 2 – 3 ของการตั้งครรภ์ โดยเกิดจากมดลูกขยายตัวมากจนสร้างแรงดันในช่องท้อง ทำให้อวัยวะภายในลอดผ่านผนังช่องท้องออกสู่ภายนอก โดยปกติแล้วหญิงตั้งครรภ์ที่มีขนาดท้องค่อนข้างใหญ่ หรืออายุครรภ์มากแล้วสะดือมักจะยื่นออกมาเอง แต่หากสะดือยื่นออกมามากจนผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากำลังเสี่ยงภาวะไส้เลื่อนที่สะดือได้

โดยทั่วไปอาการมักจะคล้ายกับโรคไส้เลื่อนที่จุดอื่นๆ สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและดำเนินการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป