โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) คือ โรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน และสามารถเป็นโรคนี้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กโต วัยผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
โดยโรคไข้หวัดใหญ่ มีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ได้แก่ A B และ C ซึ่ง สายพันธุ์ A และ B สามารถพบการระบาดได้ทั่วไป ซึ่งไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ที่มักจะพบมากการระบาดเป็นประจำ คือ ชนิด H1N1 และชนิด H3N2 ซึ่งสายพันธุ์ A เป็นสายพันธุ์ที่มีอาการรุนแรงมากที่สุดใน 3 สายพันธุ์

สาเหตุการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่
โดยปกติไวรัสไข้หวัดใหญ่จะติดต่อกันทางการหายใจ โดยจะรับเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศจากการไอ จาม หรือพูดคุย ของผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อได้มาก นอกจากนี้ยังสามารถรับเชื้อไวรัสได้ผ่านการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย จากมือที่สัมผัสพื้นที่ผิวมีเชื้อไวรัสติดอยู่และใช้มือข้างดังกล่าวมาสัมผัสที่จมูกหรือปากของตนเอง

กลุ่มเสี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่
แม้โรคไข้หวัดใหญ่จะสามารถเป็นได้ในทุกวัย แต่ก็ควรเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นติดโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนี้
1. ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
2. หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
3. เด็กเล็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี
4. ผู้พิการทางสมองที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
5. ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวาย โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน
6. โรคเกี่ยวกับเลือด เช่น โรคธาลัสซีเมีย หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
7. ผู้ป่วยโรคอ้วน หรือมีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
1. มีน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ คัดจมูก
2. ไข้ขึ้นสูงประมาณ 38 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า
3. ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย
4. ปวดศีรษะอย่างรุนแรง และปวดรอบดวงตา
5. มีอาการหนาวสั่น
6. บางรายอาจมีอาการท้องเสีย ท้องเดิน หรืออาเจียนร่วมด้วย
โดยปกติผู้ป่วยมักจะหายเป็นปกติภายใน 1 – 2 สัปดาห์ ซึ่งจะมีอาการไข้ประมาณ 2 – 4 วัน และไข้จึงจะค่อยลดลง แต่จะยังมีอาการคัดจมูกและแสบคออีกประมาณ 1 สัปดาห์ และบรรเทาลง

อาการแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่
บางรายที่มีอาการรุนแรงเนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อน ควรรีบพบแพทย์โดยด่วนเพื่อทาการวินิจฉัยและทำการรักษา หากปล่อยไว้อาการอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยสามารถสังเกตอาการได้ดังนี้
1. เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีอาการเจ็บหน้าอก หรือบางครั้งอาจมีอาการหัวใจวาย
2. เยื่อหุ้มสมองหรือสมองอักเสบ ทำให้ปวดศีรษะรุนแรง และมีอาการซึม
3. ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดบวม ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อย หอบ หายใจเร็ว และแน่นหน้าอก

การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
1. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
2. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ หรือหลีกเลี่ยงไปพื้นที่สาธารณะในช่วงที่มีการระบาดของโรค
3. ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันหากมีอาการไอ หรือจาม เพื่อไม่ให้ละอองจากการไอจามแพร่ไปในอากาศ
4. ล้างมือหรือทำความสะอาดมือด้วยสเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่สัมผัสเครื่องใช้ใน ที่สาธารณะ หลังจากการไอจาม และหลังถอดหน้ากากทุกครั้ง
5. ทิ้งกระดาษทิชชู่ที่เปื้อนจากการเช็ดน้ำมูก น้ำลาย หรือหน้ากากที่ใช้แล้วลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
6. หลีกเลี่ยงการใช้มือขยี้ตาหรือนิ้วแคะจมูก เพราะเป็นช่องทางที่ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
7. ไม่ใช่ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ หรือผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น
8. ใช้ช้อนกลางเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น