PM 2.5 คืออะไร?

PM 2.5 คืออะไร?
ฝุ่น PM 2.5 หรือชื่อเต็มคือ Particulate Matter with diameter of less than 2.5 micron เป็นฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เป็น 1 ใน 8 ตัววัดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ โดยฝุ่น PM 2.5 มีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ เล็กจนขนจมูก ของมนุษย์ที่ทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้นไม่สามารถกรองได้ จึงแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้ ตัวฝุ่นเป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก และสารก่อมะเร็งอื่นๆ

สาเหตุการเกิดฝุ่น PM 2.5
ฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งฝุ่นควันที่เกิดจากอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคต่างๆ ที่ต้องมีการปล่อยควันในกระบวนการผลิต ควันจากการเผาไหม้ในกิจกรรมในครัวเรือน เช่น การประกอบอาหาร การจุดธูปเทียน หรือแม้แต่ควันจากการสูบบุหรี่ ซึ่งมีโอกาสเกิดการเผาไหม้ ที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเกิดฝุ่น PM 2.5
นอกจากนี้ฝุ่น PM 2.5 ยังสามารถเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นได้ เช่น การรวมตัวของก๊าซอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) รวมทั้งสารพิษอื่นๆ ที่ล้วนเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เช่น สารปรอท (Hg), แคดเมียม (Cd), อาร์เซนิก (As) หรือโพลี ไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs)

ฝุ่น PM 2.5 พบมากในช่วงใดของปี
ฝุ่น PM 2.5 สามารถพบได้ทั้งปี แต่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในช่วงนั้นๆ แต่จะสามารถพบได้มากในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากความกดอากาศสูงจากทางตอนเหนือ ที่เคลื่อนตัวลงมาปกคลุมไปทั่วพื้นที่ ทำให้พื้นดินคายความร้อนออกมาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อากาศที่อยู่เหนือพื้นดินเย็นตามไปด้วย ความกดอากาศที่ปกคลุม ปิดกั้นไม่ให้อากาศร้อนและฝุ่นต่าง ๆ ที่สะสมตัวอยู่ภายในอากาศไหลผ่านไปได้ (อากาศปิด) จึงทำให้ฝุ่นเหล่านั้น ไหลย้อนกลับลงสู่พื้นดิน

รู้หรือไม่? แต่ละภาคในประเทศไทยเจอฝุ่น PM 2.5 ไม่พร้อมกัน
1. กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มักเกิดฝุ่นในช่วงเดือนตุลาคมไปจนถึงกุมภาพันธ์ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว
2. ภาคตะวันออกและตะวันตก มักเกิดฝุ่นในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม เพราะได้รับผลกระทบจากการเผาพื้นที่การเกษตร เช่น ไร่อ้อย
3. ภาคเหนือและภาคกลาง มักเกิดฝุ่นในช่วงมกราคม – เมษายน เนื่องจากได้รับความกดอากาศต่าจากกรุงเทพมหานคร ที่แผ่ขึ้นไปยังภาคเหนือ
4. ภาคใต้ มักเกิดฝุ่นในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม ซึ่งมาจากการเผาพื้นที่การเกษตร และหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่พัดเข้ามา
เช็คให้รู้ว่าฝุ่น PM 2.5 ระดับใดถึงเรียกว่าอันตราย

ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการคำนวณความหนาแน่นของฝุ่น PM 2.5 ในอากาศได้ เรียกว่า ค่า AQI (Air Quality Index) หรือดัชนีคุณภาพอากาศ ซึ่งจะช่วยคำนวณสภาพอากาศ โดยเทียบจากมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ โดยทั่วไปของสารมลพิษทางอากาศ สามารถอ่านค่าได้ดังนี้

อาการและผลกระทบจากการสูดดมฝุ่น PM 2.5
ระยะสั้น ทำให้ระคายเคืองตา ตาแดง คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ อาการภูมิแพ้และหอบหืดกำเริบ ทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อง่ายขึ้น ผิวหนังอักเสบมีผื่นคันที่ผิวหนัง
ระยะยาว การทำงานของปอดแย่ลง เสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอด ผิวหนังเหี่ยวย่นก่อนวัย