โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) เป็นมะเร็งที่สามารถพบได้เป็นอันดับต้นๆ ในผู้ชายไทยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี เนื่องด้วยลักษณะของโรคที่คล้ายกับอาการของโรคต่อมลูกหมากโต หรือโรคต่อมลูกหมากอักเสบ ซึ่งกว่าจะตรวจพบหรือทราบถึงอาการของโรค เซลล์มะเร็งก็อาจจะลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ แล้ว

ต่อมลูกหมากคืออะไร?
ต่อมลูกหมาก (Prostate Gland) คือ ต่อมไร้ท่อของเพศชาย ทำหน้าที่ในการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงอสุจิช่วยให้ตัวอสุจิด ารงอยู่ได้ในสภาวะที่เหมาะสม โดยต่อมลูกหมากจะอยู่ในบริเวณโคนอวัยวะเพศช่วงอุ้งเชิงกราน มีรูปร่างคล้ายกับเมล็ดเกาลัด ไม่สามารถมองเห็นหรือคลำได้จากภายนอกหรือตาเปล่า

สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากยังไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้
1. การเปลี่ยนแปลงของ DNA ของเซลล์ต่อมลูกหมากที่เติบโตอย่างผิดปกติ
2. ผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป
3. ในครอบครัวมีประวัติผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ก็มีโอกาสเสี่ยงพบอาการของโรคได้เช่นกัน
4. รับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์เป็นประจำ
5. นอกจากนี้มักพบได้มากในคนผิวสีมากกว่าผิวขาว ไม่ค่อยพบในผู้ชายเอเชีย

อาการของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
1. ปวดปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
2. ปัสสาวะไม่พุ่ง ไม่หมด หรือรู้สึกขัด
3. รู้สึกปวดเวลาปัสสาวะ หรือเวลาหลั่งน้ำอสุจิ
4. อวัยวะเพศไม่ค่อยแข็งตัว
5. มีเลือดปะปนในน้ำอสุจิ หรือปัสสาวะ

ระยะของโรคมะเร็ง
ระยะที่ 1 มะเร็งยังมีขนาดเล็กอยู่ในต่อมลูกหมาก ในระยะนี้มักจะยังตรวจไม่ค่อยพบ
ระยะที่ 2 ขนาดของเซลล์มะเร็งใหญ่ขึ้น แต่ยังคงอยู่ภายในต่อมลูกหมาก โดยระยะนี้สามารถใช้วิธีตรวจคลำทางทวารหนักได้
ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งมีขนาดใหญ่จนอาจเกิดอุดตันทางเดินปัสสาวะ เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งจะเริ่มกระจายออกนอกต่อมลูกหมาก
ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะอื่นๆ ในช่องท้อง

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
1. การคลำต่อมลูกหมาก โดยแพทย์จะใช้นิ้วสอดทางรูทวารหนักเพื่อตรวจหาก้อนมะเร็ง โดยการคลำเพื่อตรวจสอบขนาด รูปร่าง และความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก
2. การตรวจหาค่า PSA ในเลือด โดยค่า PSA (Prostatic Specific Antigen) คือค่าบ่งชี้มะเร็งซึ่งค่า PSA ในระดับปกติจะมีค่าเท่ากับ 0 – 4 ng/ml ซึ่งหากตรวจแล้วพบว่ามีค่า PSA สูงกว่าระดับปกติควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
3. การตรวจความผิดปกติของต่อมลูกหมากและแนวโน้มการเกิดมะเร็งในเซลล์เนื้อเยื่อต่อมลูกหมากโดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound Fusion Biopsy) ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นตำแหน่งก้อนเนื้อในต่อมลูกหมากได้ชัดเจน และสามารถวางแผนในการตรวจวินิจฉัยรวมถึงกำหนดบริเวณที่จะทำการตัดชิ้นเนื้อได้อย่างแม่นยำ

ข้อมูลอ้างอิง:
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ “โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจพบเร็วรักษาได้” (2566)
[ระบบออนไลน์]
แหล่งที่มา https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/prostate-cancer
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี “โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก” (2566) [ระบบออนไลน์]
แหล่งที่มา https://www.rama.mahidol.ac.th/cancer_center/th/knowledge/prostate_cance