โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) เกิดจากกระดูกข้อต่อที่ใช้งานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน รวมถึงต้องรองรับน้ำหนักของร่างกายโดยตรงจนเกิดการเสียดสีหรือสึกกร่อนของผิวกระดูกอ่อนบริเวณ ข้อเข่า ซึ่งในภาวะปกติผิวกระดูกอ่อนจะทำหน้าที่ช่วยให้การเคลื่อนไหวของข้อเรียบ ไม่ติดขัด และ รองรับรองน้ำหนักของร่างกาย

สาเหตุการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม
1. อายุที่มากขึ้น มีโอกาสพบอาการของโรคได้มากขึ้นในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
2. ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกณฑ์เกิน หรือผู้ป่วยโรคอ้วน โดยมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 25
3. การใช้งานข้อเข่าอย่างหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น งานที่ต้องยกข้อหนักบ่อยครั้ง กิจกรรม ที่ต้องนั่งพื้น นั่งยอง ย่อหรือพับข้อเข่าบ่อยๆ
4. เคยประสบอุบัติเหตุรุนแรงบริเวณข้อเข่า เช่น กระดูกหัก กระดูกสะบ้าเข่าหัก เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด หรือมีภาวะบาดเจ็บที่หมอนรองกระดูกเข่า เป็นต้น
5. เคยมีประวัติติดเชื้อในข้อเข่า
6. เคยมีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคข้อเข่าเสื่อม (โรคทางพันธุกรรม)
7. โรคข้ออักเสบเรื้อรังต่างๆ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ เป็นต้น

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
1. ปวดเข่าเมื่อมีการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะตอนที่ลุกขึ้น หรือพับข้อเข่า
2. รู้สึกติดขัดที่ข้อเข่าเวลาลุก นั่ง หรือเดินขึ้นลงในที่ต่างระดับ
3. มีเสียงที่ข้อเข่าขณะเคลื่อนไหว
4. ข้อเข่าผิดรูป โก่งงอ
5. ข้อเข่าเหยียดหรืองอขาได้ไม่สุดเหมือนปกติ

การวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม
โดยปกติแล้วการวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น ซึ่งโดยปกติอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมมักสังเกตความผิดปกติและวินิจฉัยโรคได้ด้วยตาเปล่า แต่สามารถใช้การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคและประเมินเพื่อวางแผนในการรักษาต่อไป

สมุนไพรไทยก็ช่วยลดอาการปวดข้อได้
การเลือกทานอาหารถือเป็นส่วนสำคัญในการบำรุงรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งพืชสมุนไพรบางชนิดเองก็มีคุณสมบัติช่วยอาการแก้ปวดข้อด้วยเช่นกัน
1. ผักแพว ผักพื้นบ้านที่พบได้มากทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดร้อน รากของผักแพวมีสรรพคุณรักษาอาการปวดกระดูก ปวดข้อ และแก้อาการโรคกระเพาะได้อีกด้วย
2. สะเดา เปลือกสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคไขข้อได้ โดยนำเปลือกสะเดาฝนกับน้ำ แล้วทาที่บริเวณที่ปวด หรือนำใบสะเดา 1 กำมือ ต้มน้ำร้อนดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เพื่อรักษาโรคปวดข้อ รูมาตอยด์ได้
3. ขิง มีสรรพคุณลดอาการปวดข้อและลดบวมลงได้ อีกทั้งช่วยผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ให้หายปวดได้อีกด้วย หากรับประทานขิงผงเป็นประจำจะช่วยรักษาอาการข้อขัดของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมและบรรเทาอาการจากโรคปวดข้อรูมาตอยด์ได้อีกด้วย
4. ขมิ้นชัน มีฤทธิ์บรรเทาอาการอักเสบในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้ ให้ผลใกล้เคียงกับการใช้ยาแผนปัจจุบัน มีสรรพคุณบำรุงกระดูก แก้ปวดข้อ แก้อักเสบ และมีสารฟลาโวนอยด์ที่ช่วยให้เส้นเลือดแข็งแรง
5. หัวไชเท้า จากงานวิจัยพบว่าหัวไชเท้ามีสารต้านการอักเสบในน้ำหัวไชเท้า รากและใบของหัวไชเท้าช่วยลดอาการอักเสบในร่างกาย และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคข้อ นอกจากนี้ยังบรรเทาอาการของโรคเก๊าท์และการบาดเจ็บจากอาการกล้ามเนื้อตึงได้

ข้อมูลอ้างอิง:
KDMS “เข่าเสื่อม และอาการข้อเข่าเสื่อม โรคใกล้ตัวที่ต้องทาความรู้จัก และเตรียมให้พร้อม” (2566) [ระบบออนไลน์]
แหล่งที่มา https://kdmshospital.com/article/knee-ostoearthritis/
โรงพยาบาลพญาไท “รู้จักโรคข้อเข่าเสื่อม อาการ สาเหตุ พร้อมแนวทางการรักษาอย่างถูกวิธี” (2566) [ระบบออนไลน์]
แหล่งที่มา https://www.phyathai.com/th/article/3784-ร จ กโรคข อเขาเส อมูั้้ื่่
PPTV HD 36 BDMS สถานีสุขภาพ “10 สมุนไพร แก้ปวดกระดูก-ข้อเข่าเสื่อม” (2566) [ระบบออนไลน์]
แหล่งที่มา https://www.pptvhd36.com/health/food/3699