ภาวะเลือดออกในสมอง

ภาวะเลือดออกในสมอง

ภาวะเลือดออกในสมอง (Brian Bleeds / Intracerebral Hemorrhage) คือภาวะที่เส้นเลือดในสมองแตกทำให้มีเลือดไหลออกไปในเนื้อเยื่อสมอง ทำให้สมองขาดออกซิเจน ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งจากสาเหตุโดยการเกิดอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ และที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ โดยภาวะเลือดออกในสมองมีความอันตรายถึงชีวิต ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์อย่างเร่งด่วนหากพบว่ามีอาการป่วยด้วยภาวะดังกล่าว

สาเหตุการเกิดภาวะเลือดออกในสมอง

  1. เกิดจากการกระทบกระเทือนเนื่องจากอุบัติเหตุที่ศีรษะ เช่น การกระแทก
  2. เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่นโรคประจำตัว พฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปและมีโอกาสพบอาการได้มากกว่าสาเหตุแรก ดังนี้

– อายุมากกว่า 40 ขึ้นไป

– สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

– โรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

– เนื้องอกในสมองบางชนิด

– มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ หรือมีการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยโรคหัวใจ

– มีลิ่มเลือดอุดตันเกิดขึ้นในสมองที่อาจเกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดสมองเอง หรือจากส่วนอื่นในร่างกายก่อให้เกิดการอุดตันของลิ่มเลือดที่สมอง ทำให้หลอดเลือดแดงไม่ได้ความเสียหายและอาจทำให้มีเลือดออกตามมา

อาการของภาวะเลือดออกในสมอง

  1. แขนขาข้างใดข้างหนึ่งมีอาการอ่อนแรง
  2. ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว
  3. ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน ตาไม่สู้แสง
  4. มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจถึงขั้นมีอาการปวดหัวรุนแรงอย่างเฉียบพลัน (Thunderclap) ซึ่งเป็นอาการของภาวะเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง
  5. คอแข็งเกร็ง หายใจลำบาก รู้สึกมีการกลืนได้ลำบาก
  6. มีภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร (Aphasia) พูดไม่รู้เรื่อง พูดไม่ชัด มีอาการลิ้นแข็ง ไม่สามารถเขียน อ่าน หรือสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้
  7. หากมีอาการรุนแรง อาจมีการชักเกร็ง ซึม หมดสติ รวมถึงอาจมีภาวะหยุดหายใจและถึงขั้นเสียชีวิตได้

การวินิจฉัยภาวะเลือดออกในสมอง

การวินิจฉัยภาวะเลือดออกในสมองสามารถประเมินภาวะของโรคได้จากการซักประวัติเบื้องต้น รวมถึงอาการที่พบ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง อ่อนแรง หมดสติ ชักเกร็ง นอกจากนี้แพทย์มักจะตรวจด้วยเทคโนโลยีการแพทย์เพิ่มเติมเพื่อประเมินอาการ รวมถึงความเสียหายในสมองว่าอาการที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กันหรือไม่ ดังนี้

  1. การตรวจด้วยเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือ การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อระบุตำแหน่งและขนาดของบริเวณที่มีเลือดออกหรือบริเวณที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคและแยกโรค เพื่อเป็นแนวทางการหาสาเหตุของโรคต่อไป
  2. การตรวจ MRA Brain เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดสมองและเนื้อสมอง
  3. การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC การแข็งตัวของเลือด ระบบภูมิคุ้นกัน การอักเสบ และการเกิดลิ่มเลือด รวมถึงบางกรณีอาจจำเป้นต้องเจาะน้ำไขสันหลังเพื่อยืนยันภาวะเลือดออกในสมอง

 

ข้อมูลอ้างอิง:

            โรงพยาบาลนครธน “โรคเลือดออกในสมอง ภาวะที่อันตรายและร้ายแรง” (2566) [ระบบออนไลน์].

            https://www.nakornthon.com/article/detail/โรคเลือดออกในสมอง-ภาวะที่อันตรายและร้ายแรง

            MedPark Hospital “เลือดออกในสมอง” (2566) [ระบบออนไลน์].

            https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/intracerebral-hemorrhage#:~:text=%เลือดออกในสมอง