โรคปอดและระบบทางเดินหายใจมักเกิดจากสาเหตุใด?
ฝุ่นควันและมลพิษ โดยเฉพาะปัจจุบันที่ฝุ่น PM 2.5 ที่มีมากขึ้นในอากาศ ถือเป็นสาเหตุสำคัญในการก่อให้เกิดอาการป่วยที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เนื่องจากการปอดต้องทำงานหนักขึ้นจากมลภาวะ
ที่อยู่ภายในอากาศที่มนุษย์ต้องหายใจเข้าไปเพื่อให้เกิดกระบวนการนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ในปัจจุบันจึงพบผู้ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับปอดและทางเดินหายใจมากยิ่งขึ้นจากมลภาวะ
ในสิ่งแวดล้อมรอบตัว รวมถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ทั้งการสูบเอง หรือการรับควันบุหรี่จากผู้อื่นก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคปอดและระบบทางเดินหายใจได้อีกด้วย
โรคปอดและระบบทางเดินหายใจมีอะไรบ้าง?
โดยหลักๆ แล้วโรคเกี่ยวกับปอดและระบบทางเดินหายใจที่มักพบคนไทยป่วยเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มตัวเลขของผู้ที่ทั้งมีโอกาสเสี่ยงและพบอาการเพิ่มขึ้นในทุกปี ดังนี้
- โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) หรือ โรคปอดบวม คือ การอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื้อโดยรอบ ทำให้พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนภายในปอดลดลง ทำได้ดูดซึมก๊าซออกซิเจนที่จำเป็นการดำรงชีวิตและการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ สาเหตุเกิดได้จากทั้งการติดเชื้อ เช่น ไวรัส แบคทีเดีย เชื้อรา และไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น การสูดดม หายใจเอาสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือการใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น มักมีอาการหายใจลำบาก ไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอกขณะหายใจ คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ เหงื่อออก หนาวสั่น อ่อนเพลีย หากเป็นในผู้สูงอายุมักมีอาการซึม อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ หรือเป็นในเด็กเล็กอาจพบอาการท้องอืด ซึม ไม่ดูดนมหรือน้ำร่วมด้วย
- โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) คือ การอักเสบของเยื่อบุหลอดลมซึ่งเป็นท่อน้ำอากาศหายใจเข้าสู่ปอด ทำให้เนื้อเยื่อเกิดการบวม มีเสมหะอุดตัน ทำให้ท่อหลอดลมแคบลง ส่งผลให้อากาศที่ผ่านเข้าปอดได้มีปริมาณลดลง มีอาการไอ หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก มีเสียงวี้ดขณะหายใจ เจ็บหน้าอก แสบคอ โดยโรคนี้มีทั้งอาการหลอดลมอักเสบฉับพลัน (Acute Bronchitis) ที่สามารถเป็นแล้วหายเองได้ภายใน 3 สัปดาห์ และอาการหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic Bronchitis) ซึ่งมักพบมากในผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้หรือโรคหอบหืดอยู่แล้ว
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) คือ โรคในกลุ่มอาการปอดอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากอวัยวะในระบบทางเดินหายใจได้รับสารหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองเป็นระยะเวลานาน ได้แก่ เนื้อเยื่อหลอดลม เนื้อปอด จนเกิดการอักเสบ และหลอดลมแคบลงหรือถูกอุดกั้นจนไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติจนเกิดเป็นอาการปอดอุดกั้นเรื้อรัง มักพบได้ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคหืดที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ซึ่งโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มักใช้ยาในการช่วยขยายหลอดลมเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยอาการที่มักสังเกตได้ง่าย คือ ไอ มีเสมหะ หอบ เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หากมีอาการรุนแรงมักจะพบว่าผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เล็บและปากเปลี่ยนเป็นสีม่วง ไอเป็นเลือด หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ และมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
- โรคหอบหืด (Asthma) เกิดจากอาการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมที่ทำให้เยื่อบุและผนังหลอดลมตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ ทำให้มีอาการหายใจไม่สะดวกและมีเสียงวี้ดขณะหายใจเข้าออก เหนื่อยหอบ ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก โดยอาการมักเกิดเฉพาะเวลากลางคืนและช่วงเช้ามืด ซึ่งโรคหอบหืดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศและทุกช่วงอายุ หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้
- โรคมะเร็งปอด (Lung Cancer) หนึ่งในโรคและสาเหตุที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆ สามารถพบผู้ป่วยได้ทั้งเพศชายและหญิง ทั้งมีแนวโน้มผู้ป่วยมีอายุลดลงเนื่องจากมลภาวะและสภาพแวดล้อม
ที่ไม่ใช่เพียงแค่การรับมลพิษจากควันบุหรี่ หรือโรงงานอุตสาหกรรมดังเช่นสมัยก่อน แม้แต่อากาศไม่สะอาดที่หายใจอยู่ในปัจจุบันก็ยังส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งชนิดนี้ได้เช่นกัน โดนมักจะไอเรื้อรัง มีเลือดปะปนขณะ
ไอ อาเจียนหรือปนกับเสมหะ เจ็บหน้าอกตลอดเวลา เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยนไปจากเดิม หายใจสั้นและมีเสียงวี้ดขณะหายใจ เกิดภาวะปอดติดเชื้อได้ง่าย
โดยส่วนมากการตรวจพบเซลล์มะเร็งมักพบในระยะที่ 3 หรือ 4 ไปแล้ว เนื่องจากส่วนมากของผู้ป่วย
มักไม่แสดงอาการของโรคซึ่งทำให้อยากต่อการวินิฉัย
การวินิจฉัยโรคปอดและระบบทางเดินหายใจ
การตรวจวินิจฉัยโรคปอดและระบบทางเดินหายใจ จะจำแนกตามอาการของโรคที่พบ โดยเริ่มจากการซักประวัติและสังเกตประเมินอาการเบื้องต้นโดยแพทย์ และการวินิจฉัยโดยทางห้องปฏิบัติการ และเทคโนโลยีการแพทย์ เช่น
- การตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry) โดยตรวจการตรวจวัดปริมาตรอากาศหายใจหายในปอดและความเร็วที่หายใจออกในแต่ละครั้ง
- การตรวจความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด ตรวจวัดการทำงานของปอดจากปริมาณก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด
- การตรวจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูความผิดปกติของปอดและบริเวณช่องอกอย่างละเอียด สำหรับประเมินและวางแผนในการรักษาตามอาการของโรคนั้นๆ
- การใช้เข็มขนาดเล็กตัดชิ้นเนื้อที่ช่องอกไปยังปอด และดูดตัวอย่างของเหลวเนื้อเยื่อที่สงสัยเพื่อนำมาวิเคราะห์ผล โดยส่วนมากมักใช้วิธีนี้ในการวิเคราะห์ระยะของโรคมะเร็งปอด
- การส่องกล้องเพื่อตรวจภายในหลอดลม กลางทรวงอก เพื่อดูดชื้นเนื้อที่สงสัยออกมาตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียด หรือดูภาพความผิดปกติภายในทรวงอก
ข้อมูลอ้างอิง:
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข “โรคปอดบวม, ปอดอักเสบ (Pneumonia)” (2566) [ระบบออนไลน์].
https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=21
ศูนย์ระบบทางเดินหายใจและปอด โรงพยาบาลสินแพทย์ “ปอดอักเสบ” (2564) [ระบบออนไลน์].
https://www.synphaet.co.th/ปอดอักเสบ
โรงพยาบาลเพชรเวช “ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคที่มักเกิดขึ้นในผู้ใหญ๋วัย 40” (2565) [ระบบออนไลน์].
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี “โรคหอบหืด โรคทางเดินหายใจร้ายแรงจนอาจทำให้เสียชีวิต” (2561) [ระบบออนไลน์].
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/โรคหอบหืด-โรคทางเดินหายใจร้ายแรงจนอาจทำให้เสียชีวิต/