โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ

โรคปอดและระบบทางเดินหายใจมักเกิดจากสาเหตุใด?

ฝุ่นควันและมลพิษ โดยเฉพาะปัจจุบันที่ฝุ่น PM 2.5 ที่มีมากขึ้นในอากาศ ถือเป็นสาเหตุสำคัญในการก่อให้เกิดอาการป่วยที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เนื่องจากการปอดต้องทำงานหนักขึ้นจากมลภาวะ
ที่อยู่ภายในอากาศที่มนุษย์ต้องหายใจเข้าไปเพื่อให้เกิดกระบวนการนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ในปัจจุบันจึงพบผู้ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับปอดและทางเดินหายใจมากยิ่งขึ้นจากมลภาวะ
ในสิ่งแวดล้อมรอบตัว รวมถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ทั้งการสูบเอง หรือการรับควันบุหรี่จากผู้อื่นก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคปอดและระบบทางเดินหายใจได้อีกด้วย

โรคปอดและระบบทางเดินหายใจมีอะไรบ้าง?

โดยหลักๆ แล้วโรคเกี่ยวกับปอดและระบบทางเดินหายใจที่มักพบคนไทยป่วยเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มตัวเลขของผู้ที่ทั้งมีโอกาสเสี่ยงและพบอาการเพิ่มขึ้นในทุกปี ดังนี้

  1. โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) หรือ โรคปอดบวม คือ การอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื้อโดยรอบ ทำให้พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนภายในปอดลดลง ทำได้ดูดซึมก๊าซออกซิเจนที่จำเป็นการดำรงชีวิตและการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ สาเหตุเกิดได้จากทั้งการติดเชื้อ เช่น ไวรัส แบคทีเดีย เชื้อรา และไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น การสูดดม หายใจเอาสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือการใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น มักมีอาการหายใจลำบาก ไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอกขณะหายใจ คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ เหงื่อออก หนาวสั่น อ่อนเพลีย หากเป็นในผู้สูงอายุมักมีอาการซึม อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ หรือเป็นในเด็กเล็กอาจพบอาการท้องอืด ซึม ไม่ดูดนมหรือน้ำร่วมด้วย
  2. โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) คือ การอักเสบของเยื่อบุหลอดลมซึ่งเป็นท่อน้ำอากาศหายใจเข้าสู่ปอด ทำให้เนื้อเยื่อเกิดการบวม มีเสมหะอุดตัน ทำให้ท่อหลอดลมแคบลง ส่งผลให้อากาศที่ผ่านเข้าปอดได้มีปริมาณลดลง มีอาการไอ หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก มีเสียงวี้ดขณะหายใจ เจ็บหน้าอก แสบคอ โดยโรคนี้มีทั้งอาการหลอดลมอักเสบฉับพลัน (Acute Bronchitis) ที่สามารถเป็นแล้วหายเองได้ภายใน 3 สัปดาห์ และอาการหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic Bronchitis) ซึ่งมักพบมากในผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้หรือโรคหอบหืดอยู่แล้ว
  3. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) คือ โรคในกลุ่มอาการปอดอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากอวัยวะในระบบทางเดินหายใจได้รับสารหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองเป็นระยะเวลานาน ได้แก่ เนื้อเยื่อหลอดลม เนื้อปอด จนเกิดการอักเสบ และหลอดลมแคบลงหรือถูกอุดกั้นจนไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติจนเกิดเป็นอาการปอดอุดกั้นเรื้อรัง มักพบได้ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคหืดที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ซึ่งโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มักใช้ยาในการช่วยขยายหลอดลมเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยอาการที่มักสังเกตได้ง่าย คือ ไอ มีเสมหะ หอบ เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หากมีอาการรุนแรงมักจะพบว่าผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เล็บและปากเปลี่ยนเป็นสีม่วง ไอเป็นเลือด หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ และมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
  4. โรคหอบหืด (Asthma) เกิดจากอาการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมที่ทำให้เยื่อบุและผนังหลอดลมตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ ทำให้มีอาการหายใจไม่สะดวกและมีเสียงวี้ดขณะหายใจเข้าออก เหนื่อยหอบ ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก โดยอาการมักเกิดเฉพาะเวลากลางคืนและช่วงเช้ามืด ซึ่งโรคหอบหืดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศและทุกช่วงอายุ หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้
  5. โรคมะเร็งปอด (Lung Cancer) หนึ่งในโรคและสาเหตุที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆ สามารถพบผู้ป่วยได้ทั้งเพศชายและหญิง ทั้งมีแนวโน้มผู้ป่วยมีอายุลดลงเนื่องจากมลภาวะและสภาพแวดล้อม
    ที่ไม่ใช่เพียงแค่การรับมลพิษจากควันบุหรี่ หรือโรงงานอุตสาหกรรมดังเช่นสมัยก่อน แม้แต่อากาศไม่สะอาดที่หายใจอยู่ในปัจจุบันก็ยังส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งชนิดนี้ได้เช่นกัน โดนมักจะไอเรื้อรัง มีเลือดปะปนขณะ
    ไอ อาเจียนหรือปนกับเสมหะ เจ็บหน้าอกตลอดเวลา เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
    เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยนไปจากเดิม หายใจสั้นและมีเสียงวี้ดขณะหายใจ เกิดภาวะปอดติดเชื้อได้ง่าย
    โดยส่วนมากการตรวจพบเซลล์มะเร็งมักพบในระยะที่ 3 หรือ 4 ไปแล้ว เนื่องจากส่วนมากของผู้ป่วย
    มักไม่แสดงอาการของโรคซึ่งทำให้อยากต่อการวินิฉัย

การวินิจฉัยโรคปอดและระบบทางเดินหายใจ

การตรวจวินิจฉัยโรคปอดและระบบทางเดินหายใจ จะจำแนกตามอาการของโรคที่พบ โดยเริ่มจากการซักประวัติและสังเกตประเมินอาการเบื้องต้นโดยแพทย์ และการวินิจฉัยโดยทางห้องปฏิบัติการ และเทคโนโลยีการแพทย์ เช่น

  1. การตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry) โดยตรวจการตรวจวัดปริมาตรอากาศหายใจหายในปอดและความเร็วที่หายใจออกในแต่ละครั้ง
  2. การตรวจความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด ตรวจวัดการทำงานของปอดจากปริมาณก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด
  3. การตรวจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูความผิดปกติของปอดและบริเวณช่องอกอย่างละเอียด สำหรับประเมินและวางแผนในการรักษาตามอาการของโรคนั้นๆ
  4. การใช้เข็มขนาดเล็กตัดชิ้นเนื้อที่ช่องอกไปยังปอด และดูดตัวอย่างของเหลวเนื้อเยื่อที่สงสัยเพื่อนำมาวิเคราะห์ผล โดยส่วนมากมักใช้วิธีนี้ในการวิเคราะห์ระยะของโรคมะเร็งปอด
  5. การส่องกล้องเพื่อตรวจภายในหลอดลม กลางทรวงอก เพื่อดูดชื้นเนื้อที่สงสัยออกมาตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียด หรือดูภาพความผิดปกติภายในทรวงอก

 

ข้อมูลอ้างอิง:

            กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข “โรคปอดบวม, ปอดอักเสบ (Pneumonia)” (2566) [ระบบออนไลน์].

            https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=21

            ศูนย์ระบบทางเดินหายใจและปอด โรงพยาบาลสินแพทย์ “ปอดอักเสบ” (2564) [ระบบออนไลน์].

            https://www.synphaet.co.th/ปอดอักเสบ

            โรงพยาบาลเพชรเวช “ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคที่มักเกิดขึ้นในผู้ใหญ๋วัย 40” (2565) [ระบบออนไลน์].

            https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Chronic-Obstructive-Pulmonary-Disease-usually-occur-age-40

            คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี “โรคหอบหืด โรคทางเดินหายใจร้ายแรงจนอาจทำให้เสียชีวิต” (2561) [ระบบออนไลน์].

            https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/โรคหอบหืด-โรคทางเดินหายใจร้ายแรงจนอาจทำให้เสียชีวิต/