3 กลุ่มโรคร้าย ตรวจก่อน รักษาทัน

ปัจจุบันโอกาสเกิดความเสี่ยงในการป่วยด้วยโรคภัยมีแนวโน้มพบผู้ที่มีอาการป่วยด้วยโรคภัยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่าสาเหตุอื่น ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมที่ปฏิบัติจนกลายเป็นนิสัย เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลให้ป่วยเป็นโรคต่างๆ โดยที่ผู้ป่วยเองอาจไม่รู้ตัว และบางโรคเมื่อตรวจพบก็อาจสายเกินกว่ารักษาให้หายขาดได้แล้ว

กลุ่มโรคเสี่ยงที่มักพบมากในผู้ป่วยไทย

  1. กลุ่มโรคมะเร็ง

เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย มีการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้อร้ายและลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ภายในร่างกายผ่านระบบไหลเวียนเลือด หรือระบบน้ำเหลือง ซึ่งโรคมะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกอวัยวะในร่างกาย ส่วนมากมักพบอาการเมื่ออยู่ในระยะลุกลามแล้ว อีกทั้งเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้หากในครอบครัวมีประวัติเคยป่วยด้วยโรคมะเร็งด้วยเช่นกัน

โรคมะเร็งสามารถแบ่งชนิดของจุดกำเนิดได้ 5 จุด ดังนี้

– Carcinoma มีจุดกำเนิดจากเนื้อเยื่อที่ปกคลุมภายนอกร่างกาย เช่น ผิวหนัง หนังศีรษะ หรือเนื้อเยื่อที่ปกคลุมชั้นในสุดของอวัยวะภายใน เช่น รังไข่ อัณฑะ ท่อไต ระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

– Sarcoma มักเกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น กระดูก กระดูกอ่อน เนื้อเยื่อไขมัน หลอดเเลือด หรือเนื้อเยื่อของเซลล์เม็ดเลือด

– Leukemia มักเกิดกับเซลล์เม็ดเลือดในไขกระดูก หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย)”

– Lymphoma and Myeloma มักเกิดกับระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือดขาว (Multiple Myeloma) และต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) ซึ่งรวมถึงอวัยวะทั้งหมดในระบบต่อมน้ำเหลือง ได้แก่ ม้าม ไขกระดูก ต่อมทอนซิล และต่อมโทมัส

– Central Nervous System Cancers คือ มะเร็งประเภทที่เกิดบริเวณสมอง ไขสันหลัง และระบบประสาท

  1. โรคหัวใจ

โรคหัวใจ (Heart Disease) คือ โรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยมักจะเรียกชื่อโรคตามอาการที่พบหรือบริเวณที่พบความผิดปกติของหัวใจ ดังนี้

– โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดจากผนังหลอดเลือดหัวใจเสื่อมสภาพหรือเกิดการอุดตันของไขมันและเนื้อเยื่อจนเกิดหนาขึ้น อุดกั้นการไหลเวียนเลือด ทำให้เลือดสามารถเข้าสู่หัวใจได้ลดลงหรือหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอจนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

– ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดจากการกำเนิดกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติในบางตำแหน่งของหัวใจ มีเกิดการลัดวงจรไฟฟ้า ซึ่งมักพบได้ในผู้สูงอายุเนื่องจากการกล้ามเนื้อหัวใจที่ถูกใช้งานอย่างยาวนานเกิดการเสื่อมสภาพ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง รวมถึงกรรมพันธุ์ หรือโรคอื่นๆ ก็สามารถส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้เช่นกัน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เป็นต้น หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหวัด ยาขยายหลอดลม ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ เป็นต้น

– โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว มักพบอาการของโรคนี้ได้ตั้งแต่กำเนิด เกิดจากการพิการของลิ้นหัวใจ จากโรคลิ้นหัวใจอักเสบรูห์มาติค มีภาวะติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ หรือมีหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจจนลิ้นหัวใจเกิดการตีบหรือมีรอยรั่ว

– โรคหัวใจล้มเหลว พบได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยอาการเฉียบพลันมักเกิดจากภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอย่างรุนแรง และแบบเรื้อรังมักเกิดจากการป่วยด้วยโรคหัวใจอื่นๆ จนเกิดอาการหัวใจล้มเหลว เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง กล้ามเนื้อหัวใจมีความผิดปกติ โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว รวมถึงการได้รับยาหรือสารเสพติดบางชนิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาเคมีบำบัดบางชนิด เป็นต้น

– โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งอาจเกิดได้จากทางพันธุกรรม หรือในครอบครัวมีประวัติผู้เคยป่วยด้วยโรคดังกล่าว โดยในปัจจุบันโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดสามารถวิเคราะห์ความผิดปกติได้ตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์มารดา ความผิดปกตินี้เกิดจากการเจริญเติบโตของหัวใจขณะที่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเกิดรูรั่วที่ผนังกั้นภายในห้องหัวใจ ลิ้นหัวใจตีบหรือเกิดการรั่วขึ้น เป็นต้น

  1. กลุ่มโรคสมองและระบบประสาท

กลุ่มโรคสมองมักเป็นโรคที่มีผลกระทบถึงระบบประสาทด้วย เนื่องจากสมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทในร่างกายทำหน้าที่ร่วมกันในการสั่งการและรับความรู้สึกจากอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย รวมถึงตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ และควบคุมการทำงานของร่างกาย โดยโรคสมองและระบบประสาทที่สามารถพบได้มีดังนี้

– โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบหรือ
อุดตันหรือมีเลือดออกในสมอง ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงเซลล์สมองจนเกิดภาวะขาดออกซิเจน
ส่งผลให้เซลล์สมองตาย และเป็นสาเหตุสำคัญของอาการอัมพฤกษ์อัมพาต

– โรคสมองเสื่อม คือภาวะที่สมองส่วนที่ทำงานด้านความจำ ความคิด ตรรกะ ภาษา และการรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมมีความผิดปกติ ส่งผลให้ไม่ได้สามารถใช้ชีวิตหรือดำเนินกิจกรรมประจำวันได้อย่างเป็นปกติ หรือหากมีอาการรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พบได้มากในผู้สูงอายุ โดยแบ่งกลุ่มอาการของโรคสมองเสื่อมได้ 2 ชนิด คือ

  1. โรคอัลไซเมอร์ โดยเกิดจากความเสื่อมสมองของสมองโดยตรง
  2. โรคสมองเสื่อมจากเส้นเลือดในสมองผิดปกติ โดยมักเกิดจากโรคอื่นๆ ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเสือดสูง ความดันสูง ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดภาวะเส้นเลือดฝอยในสมองแตกหรือตีบตันได้

– โรคเนื้องอกในสมอง คือ ภาวะเกิดเนื้อส่วนเกิดขึ้นในบริเวณสมอง สามารถเป็นได้ทั้งชนิดไม่ร้ายแรง ชนิดร้ายแรง หรือมะเร็ง สาเหตุการเกิดมักไม่ทราบได้ชัดเจน แต่อาจเกิดได้จากทางพันธุกรรม พบคนในครอบครัวเคยมีประวัติป่วยด้วยโรคดังกล่าว หรือเคยได้รับการฉายรังสีบริเวณศีรษะมาก่อน ทั้งนี้ในปัจจุบันโรคเนื้องอกในสมองยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดได้

– โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตชั่วคราว สาเหตุเกิดจากเส้นประสาทสมอง คู่ที่ 7 เกิดการอักเสบ ซึ่งอยู่ตรงใบหน้าแต่ละด้าน ทำหน้าที่รองรับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น ยิ้ม หลับตา หน้าบึ้ง รวมถึงรับรสจากลิ้นและส่งไปยังสมอง เกิดการอักเสบส่งผลต่อการรับรส การผลิตน้ำตา และต่อมน้ำลาย

– โรคพาร์กินสัน เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง เกิดจากเซลล์สมองบริเวณแกนสมองที่ทำหน้าที่ผลิตสารสื่อประสาทเรียกว่า “โดปามีน (Dopamine)” เสื่อมสภาพ ซึ่งสร้างดังกล่าวมีหน้าที่ช่วยในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ส่งให้เกิดความผิดปกติในการเคลื่อนไหวได้

 

ข้อมูลอ้างอิง

            โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหารายการุณย์ “มะเร็ง รู้เร็วรักษาได้” (2565) [ระบบออนไลน์].

            https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/cancer

            โรงพยาบาลวิมุต “6 โรคหัวใจที่ควรรู้… เกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร ?” (2565) [ระบบออนไลน์].

            https://www.vimut.com/article/about-heart-diseases

            คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล “ภาวะสมองเสื่อม” (2566) [ระบบออนไลน์].

            https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/07072014-1302