ภาวะกระดูกสันหลังยุบตัว

ภาวะกระดูกสันหลังยุบตัว (Vertebral Compression Fracture) เกิดจากการที่กระดูกสันหลัง ส่วนหน้าเกิดความเสียหาย จนเกิดการยุบตัว มีโอกาสพบได้มากในผู้สูงอายุ เนื่องจากการเสื่อมสภาพ ของกระดูก รวมถึงอาจเกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น หรืออุบัติเหตุซึ่งส่งผลกระทบต่อกระดูก โดยภาวะกระดูกสันหลังยุบตัวมักพบร่วมในผู้ที่มีอาการของโรคกระดูกพรุน โดยหากปล่อยไว้นานอาจส่งผลเสีย เกิดอาการปวดรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และอาจถึงขั้นทุพพลภาพได้

สาเหตุการเกิดภาวะกระดูกสันหลังยุบตัว
ภาวะกระดูกสันหลังยุบตัว เกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1. การถูกกระทำจากแรงกด อัด และบิด บริเวณกระดูกสันหลังส่วนหน้า ทำให้กระดูกเกิด การแตกหัก ซึ่งมักพบได้จากอุบัติเหตุ เช่น ล้มก้นกระแทกพื้นผิวที่มีความแข็ง ตกจากเก้าอี้ กระดูกสันหลังได้รับกระเทือนรุนแรง เช่น รถตกหลุม เป็นต้น
2. เกิดจากโรคกระดูกพรุน ซึ่งมาจากการสลายตัวของมวลกระดูก ส่งผลให้ความหนาแน่น ของมวลกระดูกลดลง รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งกระดูกสันหลังที่มีภาวะความแข็งแรงของกระดูกลดลง และผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อบริเวณกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นสาเหตุที่เพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะกระดูกสันหลังยุบตัว ได้ทั้งสิ้น โดยภาวะกระดูกสันหลังยุบตัว สามารถพบได้มากที่กระดูกสันหลังระดับ L1 และ T7 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนระหว่างกระดูกสันหลังระดับอกที่มีส่วนโค้งออกมา (Kyphosis) และกระดูกสันหลังระดับเอวที่มีส่วนโค้งเข้าไป (Lordosis) ซึ่งโครงสร้างนี้ทำให้เกิดแรงเฉือนต่อกระดูกสันหลัง L1 มาก ขณะที่กระดูกสันหลังระดับ T7 จะมีปุ่มกระดูกยื่นออกมาสูงที่สุดของกระดูกสันหลังระดับอก หากเกิดการกด อัด จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะกระดูกยุบตัวได้ง่าย

อาการของภาวะกระดูกยุบตัว
1. มีอาการปวดบริเวณกลางหลังในตำแหน่งที่เกิดการยุบตัวของกระดูกสันหลัง
2. ปวดรุนแรงมากขึ้นเมื่อขยับตัว หรือเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น นั่ง เดิน หรือยืน
3. ผู้ป่วยบางราย อาจเกิดภาวะกระดูกที่ยุบเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทและไขสันหลัง ซึ่งอาจมีอาการขาอ่อนแรง ขาชา หรือการปัสสาวะหรืออุจจาระได้ไม่ปกติร่วมด้วย
4. หลังโก่งงอ กระดูกหลังคดโดยสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า

การวินิจฉัยภาวะกระดูกยุบตัว
โดยปกติภาวะกระดูกสันหลังยุบตัวมักนิยมวินิจฉัยจากภาพถ่ายเอกซเรย์ แต่ในผู้ป่วยบางรายที่หากวินิจฉัยแล้วไม่สามารถแสดงอาการของโรคได้อย่างชัดเจน แพทย์อาจเลือกการวินิฉัยด้วยวิธีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อให้สามารถระบุจุดที่เกิดความผิดปกติของการเกิดภาวะกระดูกยุบตัวได้อย่างชัดเจน รวมถึงการวางแผนได้อย่างแม่นยายิ่งขึ้นและการวินิจฉัยที่มักทำร่วมกับการตรวจหาจุดเกิดภาวะกระดูกสันหลังยุบ คือการตรวจหาภาวะของโรคกระดูกพรุน ซึ่งสามารถทำได้โดยการตรวจวิเคราะห์ความแข็งแรงของมวลกระดูก (Bone Mineral Density : BMD)

ข้อมูลอ้างอิง:
Bangkok International Hospital “กระดูกสันหลังยุบจากโรคกระดูกพรุน” (2567) [ระบบออนไลน์].
https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/disease-treatment/collapsed-spine-from-osteoporosis

มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด “ภาวะกระดูกสันหลังยุบตัว (Vertebral Compression Fracture)” (2562) [ระบบออนไลน์].
https://pt.mahidol.ac.th/ptcenter/knowledge-article
โรงพยาบาลนครธน “ภาวะกระดูกสันหลังหักยุบหรือทรุดจากโรคกระดูกพรุน” (2567) [ระบบออนไลน์].
https://www.nakornthon.com/article/detail/