โรคสมองเสื่อมก่อนวัย

โรคสมองเสื่อม ในอดีตเป็นโรคที่มักพบได้มากในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวมีอายุเฉลี่ยที่ลดลงอย่างน่าตกใจ และพบว่าคนในวัยหนุ่มสาวหรือวัยทำงานก็สามารถป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม ได้เช่นกัน หรือที่เรียกว่า “โรคสมองเสื่อมก่อนวัย”

สาเหตุการเกิดโรคสมองเสื่อมก่อนวัย
1. ในครอบครัวมีประวัติผู้ป่วยด้วยภาวะสมองเสื่อมก่อนวัย หรืออายุยังน้อย
2. เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ ซึ่งมักพบได้มากในผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง
3. ฮอร์โมนไทรอยด์มีระดับต่ำกว่าปกติ
4. ร่างกายขาดสารอาหารประเภทวิตามินบี 12 เป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเสื่อมของเซลล์สมองได้
5. การสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
6. บาดเจ็บที่ศีรษะ หรือมีภาวะเนื้องอกในสมอง
7. เกิดการติดเชื้อในสมอง เช่น HIV ซิฟิลิส หรือไวรัสอื่นๆ ที่ส่งกระทบโดยตรงกับสมอง

อาการของโรคสมองเสื่อมก่อนวัย
โดยปกติโรคสมองเสื่อมก่อนวัยจะมีอาการเหมือนกับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั่วไปในผู้สูงอายุ เพียงแต่กลุ่มที่พบนั้นพบในคนที่อายุน้อยลงโดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน โดยสังเกตได้จากการสูญเสียความทรงจำ ลืมเรื่องง่ายๆ หรือลืมเรื่องในชีวิตประจำวัน หรือหากมีอาการหนักขึ้น มักจะกระทบถึงการใช้ชีวิตประจำ เช่น ไม่สามารถประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ การสื่อสารติดขัดไม่สามารถเรียบเรียงคำพูดหรือรูปประโยคได้ ย้ำคิดย้ำทำ สมรรถภาพในการการตัดสินใจถดถอย ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ การเกิดโรคสมองเสื่อมก่อนวัยอาจจะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบแวดล้อมอื่นร่วมด้วย เพราะกลุ่มวัยทางานนั้นอาจมีอาการของโรคอื่นร่วมด้วยซึ่งมีความคล้ายคลึงกับโรคสมองเสื่อมก่อนวัย เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะเครียด โรคทางจิตเวช เป็นต้น หรือโรคที่เกิดความผิดปกติขึ้นในหลอดเลือดสมองหรือเนื้อสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคเนื้องอกในสมอง ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมก่อนวัย โรคสมองเสื่อมก่อนวัยสามารถวินิจฉัยได้ดังนี้
1. การซักประวัติเบื้องต้นเพื่อสอบถามข้อมูล เวลาในการเกิด สาเหตุ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน บุคลิก อารมณ์ ประวัติการใช้ยา สภาพแวดล้อมรอบตัว หรือวิเคราะห์โรคทางจิตเวชหรือ โรคทางสมองที่ผู้ป่วยอาจเป็นอยู่ก่อนแล้ว รวมถึงการสอบถามบุคคลใกล้ชิดเพื่อประกอบการวินิจฉัยเบื้องต้นร่วมด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำ เพราะโดยส่วนมากผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคนี้มักไม่ทราบว่าตนเอง มีความผิดปกติอย่างไร
2. ทำแบบทดสอบเพื่อประเมินภาวะสมองเสื่อม และแบบประเมินภาวะทางอารมณ์และจิตใจ
3. การตรวจด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น
– การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
– การเจาะน้ำไขสันหลังในกรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อ HIV ซิฟีลิส หรือ ไวรัส เป็นต้น – การตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic Testing) การตรวจโรคทาง เมตาบอลิก เช่น ไขมันในเลือด น้ำตาลในเลือด การทำงานของเอนไซม์ในเม็ดเลือดขาว การตรวจชิ้นเนื้อ เป็นต้น
– การตรวจหาความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์

ข้อมูลอ้างอิง:
กภ.สุชาญา สถาวรานนท์, มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์กายภาพบาบัด คณะกายภาพบาบัด “โรคสมองเสื่อมก่อนวัย ภัยเงียบใกล้ตัว” (2565) [ระบบออนไลน์]
https://pt.mahidol.ac.th/knowledge
https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/