เส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด

เส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tears/Rotator Cuff Injury) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยทั้งในผู้สูงอายุที่มีการใช้งานหัวไหล่มาอย่างยาวนาน หรือบุคคลในวัยอื่นๆ ที่อาจเกิดจากกิจวัตรประจำวัน หรืออุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณช่วงหัวไหล่ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการเส้นเอ็นบาดเจ็บหรือฉีกขาดได้ หัวไหล่ ประกอบด้วยกระดูก 3 ส่วน ได้แก่
1. กระดูกท่อนแขนด้านบน (Humerus)
2. กระดูกสะบัก (Scapular)
3. กระดูกไหปลาร้า (Clavicle)

สาเหตุการเกิดเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด
เส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
1. เกิดจากการเสื่อมสภาพของเส้นเอ็น (Degeneration) โดยพบมากในกลุ่มผู้สูงวัยที่มีการใช้งานเส้นเอ็นหัวไหล่มาเป็นระยะเวลานาน โดยมีปัจจัยหลัก เช่น
– Repetitive Stress มีการใช้งานสะสมเป็นระยะเวลานาน ใช้งานหนักหรือผิดสุขลักษณะ หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้งานไหล่เป็นประจำเช่น กลุ่มนักกีฬาเบสบอล ยกน้ำหนัก กีฬาประเภทลู่และลาน เช่น ขว้างจักร เป็นต้น หรือผู้ใช้แรงงานแบกหามสิ่งของ เช่น ก่อสร้าง เป็นต้น
– Lack of Blood Supply หรือ ภาวะเลือดไปเลี้ยงน้อยลง เมื่ออายุมากขึ้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณหัวไหล่ลดลง ทำให้เกิดการฉีกขาด และการสมานตัวของเส้นเอ็นเกิดได้ช้าลงจนส่งผลให้มีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง
– Bone Spur หรือภาวะหินปูนในข้อไหล่ มักเกิดขึ้นบริเวณใต้กระดูกส่วนบนของข้อไหล่ (Acromion) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียดสีของหินปูนและเส้นเอ็น และส่งผลให้เกิดการฉีกขาดตามมา เรียกภาวะนี้ว่า Impingement Syndrome
2. เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ล้มขณะที่แขนเหยียดเท้าพื้น หรือไหล่กระแทกและมีการหดตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอย่างรุนแรง

อาการเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด
1. ปวดบริเวณช่วงไหล่ในขณะที่นอนตะแคงทับด้านที่มีอาการ หรือทำกิจกรรม เช่น ยกแขน หมุนหัวไหล่ เป็นต้น
2. แขนมีอาการอ่อนแรง
3. มีเสียงเสียดสีขณะที่ขยับไหล่ในบางท่า

ทั้งนี้อาการเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้และนำไปสู่การสูญเสียการเคลื่อนไหวอย่างถาวรได้

แนวทางการวินิจฉัยอาการเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด
โดยปกติจะทำการซักประวัติเบื้องต้น และตรวจร่างกายด้วยการกดกล้ามเนื้อบริเวณช่วงไหล่ รวมถึงทดสอบการขยับแขนในตำแหน่งต่างๆ เพื่อตรวจความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบไหล่และ แขน รวมถึงสามารถวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ร่วมด้วย เพื่อให้เห็นถึงภาพตัดขวางความผิดปกติ และสามารถวางแผนในการรักษาได้อย่างแม่นยำ และตรงจุด เช่น
1. การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูภาพรายละเอียดโครงสร้างทั้งหมดบริเวณ ช่วงไหล่
2. การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อดูภาพเดือยกระดูก และส่วนอื่นๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดร่วมด้วย
3. การอัลตราซาวด์ (Ultra-Sound) เพื่อดูภาพเนื้อเยื่ออ่อน เช่น กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น ในขณะเคลื่อนไหว

ข้อมูลอ้างอิง:
นพ.ยุทธวัฒน์ ติรกนกสถิตน์ โรงพยาบาลกรุงเทพ, “เส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tear)” (2567)
https://www.bangkokhospital.com/content/rotator-cuff-tear
MedPark Hospital, “เส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด” (2567)
https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/rotator-cuff-tears