โรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) คือภาวะสมองเสื่อมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งส่งผลต่อการจดจำเรื่องราวต่างๆ การคิดวิเคราะห์ และพฤติกรรม รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่อาจได้รับผลกระทบจากโรคอัลไซเมอร์ ด้วยเช่นกัน
สาเหตุการเกิดโรคอัลไซเมอร์
ส่วนมากมักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีการใช้งานสมองมาอย่างยาวนานจนมีภาวะถดถอย ของการทำงานหรือโครงสร้างของสมอง โดยสมองจะสร้างโปรตีนชนิดหนึ่ง คือ เบต้า-อะไมลอยด์ (Beta-Amyloid) และ เทาโปรตีน (Tau Proteins) ซึ่งถือเป็นพิษต่อเซลล์สมอง ทำให้เกิดการตกตะกอน จนนำไปสู่ภาวะเซลล์สมองตาย และเกิดการสมองเสื่อมและฝ่อลง จนสูญเสียเนื้อสมองไปในที่สุด

ปัจจัยที่ส่งผลให้อาจพบอาการของโรคอัลไซเมอร์
แม้ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโรคอัลไซเมอร์เกิดจากสาเหตุใด แต่อาการของโรคอัลไซเมอร์ มักเกิดขึ้นเกิดขึ้นทีละน้อยตั้งแต่อายุ 40 – 50 ปี โดยเริ่มสะสมจนเกิดความเสียหายกับเนื้อสมองเมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย และพบอาการได้ชัดเจนเมื่ออายุเกิน 65 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นร่วมด้วยดังนี้
1. เพศ โดยเพศหญิงมีความเสี่ยงมากกว่าเพศชาย
2. ในครอบครัวมีประวัติผู้ที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์มาก่อน
3. พันธุศาสตร์ โดยยีนบางตัว เช่น Apolipoprotein (APOE) สามารถเชื่อมโยงกับอาการของโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่ทั้งนี้แม้บางคนตรวจทางพันธุกรรมแล้วพบยีนดังกล่าว ก็ไม่ได้เป็นการยืนยันว่าบุคคลนั้นจะต้องเป็นโรคอัลไซเมอร์เสมอไป
3. มีภาวะซึมเศร้า
4. สูบบุหรี่เป็นประจำ
5. เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
6. เคยเกิดการบาดเจ็บ ป่วย หรือได้รับการกระทบโดยตรงกับสมอง
7. สาเหตุอื่นๆ เช่น การศึกษา ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง คุณภาพของการนอนหลับ เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ง่ายกว่าคนทั่วไปด้วยเช่นกัน

อาการของโรคอัลไซเมอร์
1. หลงลืมในเรื่องที่ทำอยู่เป็นประจำบ่อย หรือหลงทิศทางแม้อยู่ในสถานที่ๆ คุ้นเคย
2. ไม่สามารถทำสิ่งที่คุ้นเคยได้ตามปกติ
3. เริ่มจำเรื่องราวในอดีตไม่ได้
4. มีปัญหาในการสื่อสาร การเรียบเรียงคำพูด
5. มีปัญหาด้านการมองเห็น เช่น เห็นภาพซ้อน หรือการมองเห็นไม่เป็นไปอย่างปกติ
6. พฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์แปรปรวนง่าย
7. มีปัญหาด้านการนอน เช่น นอนไม่หลับ

การตรวจวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์
การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ นอกจากการซักประวัติ เช่น การใช้ชีวิตประจำวัน สภาพแวดล้อม การซักถามญาติหรือคนใกล้ชิดผู้ป่วย เพื่อสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์ในเบื้องต้นที่มักทำโดยทั่วไปแล้ว แพทย์มักจะตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินและวางแผนรักษาอาการของโรคอัลไซเมอร์ได้ดังนี้
1. การตรวจร่างกาย เพื่อประเมินความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น การเคลื่อนไหว หรืออาการอ่อนแรง
2. การตรวจความจำ เช่น Mini Mental Status Examination (MMSE), Montreal Cognitive Assessment (MoCA), Cognitive Ability Test
3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือเทคโนโลยีทางการแพทย์
– การตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อประเมินภาพตัดขวางดูความผิดปกติของหลอดเลือดและเนื้อสมอง
– การตรวจเลือด เพื่อให้ปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด การทำงานของต่อมไทรอยด์ ระดับวิตามินบี 12 การตรวจหาภาวะการติดเชื้อซิฟิลิสหรือ HIV การตรวจภูมิคุ้มกันในร่างกายที่อาจส่งผลกระทบต่อสมอง
นอกจากนี้ยังมีการตรวจประเมินภาวะทางอารมณ์ การตรวจยีน และการตรวจร่างกายอื่นๆ เพื่อใช้ในการประเมินผลร่วมในการวางแผนการรักษาโรคได้อีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิง:
แพทย์หญิง จิตรลดา สมาจาร, โรงพยาบาลสมิติเวช, “ลืมง่าย จายาก เสี่ยงอัลไซเมอร์” (2564)
https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/alzheimer-dementia
The M BRACE by BNH Hospital, “ทุกสิ่งที่คุณจาเป็นต้องรู้เกี่ยวกับ โรคอัลไซเมอร์ Alzheimer อาการ สาเหตุ และวิธีป้องกัน” (2567)
https://mbrace.bnhhospital.com/alzheimer-disease/
โรงพยาบาลศิครินทร์, “อัลไซเมอร์ ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด… ทาความรู้จักกับโรคนี้ ก่อนที่จะจากันไม่ได้” (2567)
https://www.sikarin.com/senior/