โรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง

โรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง
โรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง (Cerebral Aneurysm) คือ ภาวะการเสื่อมสภาพของผนังเส้นเลือดเฉพาะจุด ทำให้ผนังเส้นเลือดบริเวณนั้นบางกว่าจุดอื่น เมื่อเกิดความดันหรือมีกระแสเลือดไหลผ่านบริเวณนั้นเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งบริเวณผนังของหลอดเลือดที่บางอาจมีโอกาสโป่งพอขึ้นคล้ายกับบอลลูน และอาจแตกออกได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมองขึ้นได้
สาเหตุของโรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง
โรคเส้นเลือดในสมองโป่งพองมักพบได้มากใน
1. บุคคลที่มีอายุ 40 ปีขึ้น
2. ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
3. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น
4. ผู้ที่สูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
5. มีความผิดปกติแต่กำเนิดทำให้ผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรง
6. เคยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะหรือสมองจนเกิดความเสียหายกับหลอดเลือดสมอง
7. มีภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่ตีบ
8. การใช้สารเสพติดบางชนิดที่มีผลทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ
อาการของโรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง
โดยทั่วไปโรคเส้นเลือดในสมองโป่งพองมักจะไม่แสดงอาการอย่างชัดเจน โดยจะทราบว่าป่วย ด้วยโรคดังกล่าวแล้วก็ต่อเมื่อเส้นเลือดแตกหรือโป่งพองจนไปกดทับเนื้อเยื่อหรือเส้นประสาทสมอง ซึ่งอาการที่พบบ่อยและสามารถสังเกตได้ชัดเจน ดังนี้
1. ปวดหัวอย่างรุนแรง หรือฉับพลันแบบที่ไม่เคยปวดมาก่อน
2. คลื่นไส้ อาเจียน
3. การมองเห็นมีความผิดปกติ ตามัว มองเห็นไม่ชัด

ซึ่งโรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง สามารถแบ่งกลุ่มอาการออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
1. ผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดในสมองโป่งพองขนาดใหญ่ ซึ่งมักไปกดทับเนื้อเยื่อหรือเส้นประสาทสมอง อาการที่แสดงจะขึ้นอยู่กับเวลาที่ถูกกดทับ ซึ่งสมองแต่ละส่วนมีหน้าที่ในการควบคุมและสั่งการอวัยวะ ในร่างกายแตกต่างกันไป เช่น หนังตาตก เห็นภาพซ้อน ปวดศีรษะข้างเดียว หากเป็นผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือด ในหลอดเลือดบริเวณที่โป่งพองไปอุดหลอดเลือดส่วนปลาย จะมีอาการหลอดเลือดในสมองอุดตันร่วมด้วย เช่น แขนขาอ่อนแรง รู้สึกชา ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง เป็นต้น
2. ผู้ป่วยที่มีภาวะเส้นเลือดแตกของโรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง ซึ่งทำให้เกิดภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง โดยจะมีอาการปวดศีรษะโดยเฉพาะบริเวณต้นคออย่างรุนแรง ปวดศีรษะฉับพลัน มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน บางรายอาจหมดสติหลังจากเกิดอาการปวดศีรษะ
การตรวจวินิจฉัยโรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง
โรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยโรคโดยแพทย์ ซึ่งจะตรวจด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ด้วยการถ่ายภาพรังสี เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณสมอง (CT Scan) การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยการฉีดสารทึบรังสี (Cerebral Angiography)

ข้อมูลอ้างอิง:
โรงพยาบาลเพชรเวช, “โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง ภัยเงียบที่มากับอาการปวดศีรษะ” (2563).
https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Cerebral_Aneurysm
นพ.ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลนครธน, “โรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง ระเบิดเวลาที่อันตรายถึงชีวิต” (2567).
https://www.nakornthon.com/article/detail/